ชีวิตเรามีแค่ 4000 สัปดาห์: แนะนำหนังสือ

แนะนำหนังสือ: ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์

หนึ่งในหนังสือเล่มล่าสุดที่ผมอ่านแล้วพบว่าเปิดมุมมองความคิดหลายด้านมาก ๆ ก็คือ หนังสือชื่อชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์” (Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals) ของ Oliver Burkeman ซึ่งเสนอมุมมองอีกด้านเกี่ยวกับการบริหารจัดการเวลา ใจความของหนังสือเล่มนี้คือพุ่งเป้าไปยังแนวคิดเรื่องการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคำแนะนำที่บอกให้เราบริหารจัดการเวลาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ว่ามันมีอะไรผิดพลาดตรงไหนรึเปล่ากับแนวคิดและคำแนะนำเช่นนี้

1. สี่พันสัปดาห์ที่จำกัด

Burkeman ปูพื้นเราด้วยภาพที่ว่า เราน่าจะอยู่ได้จนถึงอายุ 80 ปี และนั่นเท่ากับเราจะมีเวลาในชีวิตทั้งหมดประมาณ 4,000 สัปดาห์เอง พร้อมกับย้ำถึงสิ่งธรรมดาสามัญว่า อย่าลืมว่าเราทุกคนก็จะตาย ซึ่งไม่รู้ว่าจะตายตอนไหนด้วย เราไม่ได้มีเวลาเหลือล้นอะไรขนาดนั้น เราต้องไม่ลืมว่าเรามี “เวลาที่จำกัด” ซึ่งหมายถึงเราทำทุกอย่างได้ไม่ครบแน่ ๆ และภายใต้ข้อจำกัดสำคัญคือ อะไรที่เราตัดสินใจทำย่อมตัดโอกาสและตัวเลือกอื่นออกไปด้วย ถ้าคุณเลือกใช้เวลาของวันนี้ทำงานในที่ทำงานก็หมายถึงตัดโอกาสและตัวเลือกอื่นในการใช้ชีวิตออกไป ไม่ว่าจะท่องเที่ยวอยู่ริมเขา ดูภาพยนตร์ในโรงหนัง หรือกินข้าวกับเพื่อน

ทว่าสิ่งที่ทุกคนสนใจในปัจจุบันคือแนวคิดในการบริหารจัดการเวลาที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลิตภาพมากที่สุด เราหมกมุ่นกับการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว  ต้องรีดเค้นประโยชน์และผลิตภาพมากที่สุดจากเวลาที่มีอยู่ ความย้อนแย้งคือในโลกปัจจุบันที่เรามีเทคโนโลยีช่วยให้ประหยัดเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ เรายังคงไม่มีเวลามากขึ้นหรือไม่มีเวลาเหลือเฟือจะไปทำสิ่งต่าง ๆ ที่เราหวังจะทำให้ครบ เพราะเรายังคงยุ่งมากเหมือนเดิม แถมเรายังใจร้อนมากขึ้นและต้องการทำ “ทุกอย่าง“ ให้เสร็จ บางคนมุ่งไปกับการทำอะไรให้เสร็จมากที่สุดในเชิงปริมาณ เช่น จัดการอีเมลและข้อความจนครบ ทำงานยิบย่อยให้เสร็จ โดยหวังจะได้มีเวลาที่มากขึ้นแต่สุดท้ายก็นำไปสู่การต้องทำงานและมีปริมาณงานที่มากขึ้น สวนทางกับความต้องการที่จัดการงานทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองว่างพอจะทำสิ่งที่สำคัญ กลายเป็นว่าเราทำทุกอย่างที่ไม่ค่อยสำคัญมากจนเสร็จ แต่แทบจะลงมือทำสิ่งที่สำคัญกับตัวเองน้อยมาก หรือบางอย่างก็คือไม่ได้เริ่มลงมือทำเลย

2. โลกที่ไม่มีปัจจุบันและชีวิตที่อยู่แต่กับอนาคต

ความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน คือ คนส่วนใหญ่เริ่มใช้ชีวิตที่มุ่งเน้นกับอนาคต เราพยายามใช้ชีวิตจดจ่อกับอนาคตอันไกล เรามุ่งหวังบริหารเวลาให้ได้ประโยชน์ที่สุดและมีผลิตภาพมากที่สุด เราคาดหวังว่าเราจะมีความสุขและมีอนาคตที่ดีในวันข้างหน้า จนสุดท้ายเราอาจหลงลืมการใช้เวลาและความสุขกับปัจจุบัน กระทั่งการใช้เวลากับปัจจุบันอย่างกิจกรรมในยามว่างหรือใช้เวลาว่าง เราก็มีความกดดันว่าเราไม่สามารถอยู่เฉย ๆ ได้ เวลาว่างที่เราจะใช้ควรเป็นกิจกรรมในเวลาว่างที่สร้างผลิตภาพ ที่มีประโยชน์ ที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จมากขึ้นในอนาคต เวลาว่างของเราจึงมักกลายเป็นงานหรือเป็นอะไรที่รู้สึกว่าว่าเราใช้มันได้อย่างเหมาะสม เราจะต้องใช้มันให้รอบคอบและทำเฉพาะในสิ่งที่มันมีประโยชน์ต่อเป้าหมายในอนาคต สุดท้ายเราก็ลืมว่าเราอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่อนาคต อนาคตยังไม่มา

ปัจจุบันของใครหลาย ๆ คนจึงเป็นเพียงทางเดินไปสู่อนาคต ปัจจุบันจะไม่ทำให้เราพึงพอใจหรือมีความสุข ปัจจุบันของเรายังไม่สมบูรณ์และอนาคตเท่านั้นที่จะสมบูรณ์ ความสุขและความพึงพอใจจะไปอยู่ที่อนาคตอันไกลที่มันสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ความคิดเหล่านี้จะทำให้เราจดจ่อกับการใช้เวลาเฉพาะเพื่อประโยชน์ในอนาคต ชีวิตที่วิ่งล่าไล่ตามเป้าหมายและความสุขที่จะเกิดได้ก็ในภายภาคหน้าเท่านั้น Burkeman จึงชี้ให้เราเห็นว่า ถ้าชีวิตเป็นประสบการณ์ชั่วคราวที่ร้อยเรียงต่อเนื่องกันและทุกช่วงเวลามีค่าในตัวของมันเอง การที่สายตาของเราจ้องและเพ่งความสนใจไปยังจุดหมายและอนาคตที่อยากไปถึง เราจะพลาดอะไรไปหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำอะไรในปัจจุบันที่เราไม่รู้เลยว่ามันจะเป็นการทำครั้งสุดท้ายหรือเปล่า ปัจจุบันคือสิ่งที่จะเกิดเป็นครั้งสุดท้าย เพราะมันเกิดแล้วมันก็จะผ่านพ้นไป เวลาของเราก็จะเหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันอาจเป็นครั้งสุดท้ายของการได้เจอคนที่รักที่สุด ได้ไปแค่ครั้งเดียวยังสถานที่หนึ่งที่ชอบมากที่สุด หรือเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้คุยเปิดใจกับเพื่อนรักที่สุด เพราะฉะนั้นอย่าลืมใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน อย่าคาดหวังว่าอนาคตเท่านั้นที่จะให้ความสุขแก่เราได้ เพราะในความเป็นจริง เราควบคุมอนาคตไม่ได้และมีความไม่แน่นอนรออยู่ อย่าใช้ชีวิตแบบยกความสุขให้อนาคตแต่ไม่เคยมีความสุขเลยกับปัจจุบันขณะ

3. มุมคิดน่าสนใจที่ได้

หนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์มอบประเด็นหรือมุมคิดที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น

(ก) เราคือเวลา ตัวเราคือเวลาที่มีจำกัด เราต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เวลาที่มันจะหมดลงไปเรื่อย ๆ และการเลือกของเราว่าจะทำอะไรก็จะร้อยเรียงต่อเนื่องกันเป็นห้วงเวลาที่สะท้อนออกมาเป็นตัวเราและชีวิตเรา และหลายครั้งสิ่งที่เป็นตัวเราก็มาจากความบังเอิญที่อยู่นอกเหนือการควบคุม อีกข้อหนึ่งคือเราไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้น จักรวาลแทบจะไม่สนอะไรกับเราหรือทางเลือกของเราเลย เมื่อตัวเราคือเวลาหรือคือช่วงเวลา ก็จงให้เป็นการได้ใช้เวลาอันจำกัดเพื่อมุ่งเน้นไปยังสิ่งสำคัญสำหรับเราเพียงไม่กี่อย่าง ไม่ต้องทำทุกอย่าง จงยอมรับว่าเราทำทุกอย่างไม่ได้ และเปิดอิสระในการทำเฉพาะไม่กี่อย่างที่สำคัญกับชีวิตที่เป็นช่วงเวลาของเราพอ

(ข) เรามีอำนาจจำกัดในการควบคุมเวลาและเราควบคุมทุกสิ่งให้เป็นไปตามแผนไม่ได้ และแน่นอนที่สุดว่าเราแทบควบคุมอนาคตไม่ได้เลย การพยายามควบคุมเวลาให้เป็นไปตามที่เราต้องการทุกอย่างเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย และอาจสร้างความเครียดอะไรบางอย่างให้แทน เช่น เราควรวางแผนการเดินทาง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ามันมีอะไรนอกเหนือการควบคุมเราอย่างแน่นอน เราคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราวางแผนไม่ได้ ยิ่งรู้สึกว่าต้องควบคุมทุกอย่างเต็มที่ กลายเป็นว่าเราจะยิ่งเครียดและวิตกกังวลกับความกลัวว่าจะต้องเจออะไรที่มันผิดแผนไปหมด จนทุกสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมคือความเครียดและหายนะ ทั้ง ๆ ที่มันอาจเป็นการเปิดประสบการณ์และโอกาสบางอย่างให้เราได้เรียนรู้ และสุดท้ายนั้นโปรดยอมรับว่าเราควบคุมอนาคตไม่ได้ มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ในอนาคตไม่เป็นไปอย่างที่เราวางแผนและคาดคิด เราจึงไม่ควรกังวลไปกับสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมที่เราแทบไม่มีทางควบคุมมันได้

(ค) เราไม่มีเวลาเพียงพอในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องยอมรับข้อจำกัดนี้ เราทำทุกอย่างที่เราอยากทำหรือทุกอย่างที่คนอื่นอยากให้เราทำไม่ได้ เลือกมุ่งความสนใจและลงมือทำในสิ่งที่เราตั้งใจจะทำจริง ๆ และอย่ากลัวที่จะพลาดอะไร (FOMO: Fear of Missing Out) เพราะการพลาดอะไรไป มันเกิดจากเราเลือกทำอะไรบางอย่าง อันแสดงถึงการเลือกในสิ่งที่เราต้องการทำจริง ๆ เป็นสิ่งที่มีความหมาย เลือกเพราะมันสำคัญที่สุดกับเรา มันเป็นเรื่องปกติที่เราต้องพลาดอะไรบางอย่างหรือเกือบทุกอย่างหากเราเลือกทำแค่บางอย่าง ด้วยเหตุนี้คนจำนวนมากจึงไม่เลือก และคิดจะทำทุกอย่างพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งนั่นนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ที่หลายคนต้องเผชิญ เพราะเราทุกทำอย่างและหาเวลาให้กับทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาที่จำกัดไม่ได้ อย่ากลัวที่จะเลือกหรือตัดสินใจเลือกหรือตัดทางเลือกอื่น และโปรดจำไว้ว่าไม่มีทางที่เราจะเลือกทุกอย่างถูกต้องหมดเสียด้วย เป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องพลาดเกือบทุกโอกาสและเกือบทุกประสบการณ์ที่โลกนี้เสนอมาให้ หากเราเลือกทำสิ่งที่สำคัญกับเรานั่นหมายถึงเราต้องสละทางเลือกและโอกาสอื่นอยู่แล้ว 

4. คำแนะนำที่น่าสนใจ

หนังสือเล่มนี้แทรกคำแนะนำที่น่าสนใจและผมคิดว่าน่าลองมาปรับใช้หลายอัน เช่น

(1) เราอาจกำหนดภารกิจหลักสำคัญไว้เพียง 3 อย่างที่เราจะทำ และไม่ทำอะไรเพิ่มถ้ายังทำไม่เสร็จหรือยังสะสางออกไปสักอันไม่ได้ และให้พยายามทำอะไรเพียงอย่างเดียว แทนที่จะทำทุกอย่างไปพร้อมกันจนล้นมือ ให้มุ่งความสนใจกับการจัดลำดับทำโครงการใหญ่เพียงหนึ่งโครงการต่อหนึ่งช่วงเวลา เราจะได้จดจ่อและให้ความสำคัญกับมันที่สุด

(2) ตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะล้มเหลวเรื่องอะไรไว้ก่อน แน่นอนว่าเราทำทุกอย่างไม่ได้บนเวลาที่มีจำกัดและนั่นหมายถึงเราจะไม่ได้ทำอะไรหลายอย่างอยู่แล้ว เราเลือกทำหนึ่งอย่างก็คือตัดโอกาสอื่นทิ้ง ยอมรับมันและอาจจะตัดสินใจไว้เลยว่าเราจะล้มเหลวหรือไม่เอาเรื่องไหน เราจะได้ทุ่มเทเวลาและพลังงานกับสิ่งที่สำคัญในช่วงเวลาแห่งชีวิตเรา เช่น เราจะไม่เอาเรื่องการทำอาหารอร่อย หรือเราจะตัดเรื่องการตัดแต่งสวนให้สวยงามออกจากเป้าหมาย อะไรพวกนี้จะกวนเราน้อยลงและไม่เกิดความละอายว่าทำไมเราทำมันไม่ได้

(3) ระวังเครื่องจักรดึงดูดความสนใจอย่างพวก Social Media ต่าง ๆ มันจะทำให้เราใส่ใจกับทุกอย่างมากจนเกินไป จนเราไม่ได้ทำอะไรที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้จะแย่งความสนใจของเราตลอดเวลา

(4) ฝึกความอดทนรอและอยู่เฉย ๆ ให้ได้บ้าง ผลกระทบที่โลกเดินไปด้วยความเร็วและทำให้คนใจร้อนคือ เราจะตัดสินใจใช้เวลาแบบผิด ๆ เร่งทำทุกอย่าง หรือต้องใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เวลาเพื่ออนาคต ในความเป็นจริง หลายครั้งก็ต้องปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น และอะไรเหล่านี้หลายครั้งเราก็ควบคุมมันไม่ได้ด้วย ยิ่งอยากควบคุมยิ่งทำให้เราเครียดและวิตกกังวล จึงควรเลิกคิดที่จะคุมเวลาและอนาคตแบบเบ็ดเสร็จ ไม่มีทางที่ทุกอย่างจะสำเร็จไปตามที่เราตั้งใจอยู่แล้ว โปรดอย่าลืม

(5) พยายามให้เวลากับสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน ทำเรื่องนั้นบางส่วนก่อนในวันนี้ แม้จะน้อยนิดแต่แค่ได้เริ่มทำหรือลงมือทำไปเรื่อย ๆ บ้างก็ยังดี อย่าคิดว่าจะจัดการกับทุกสิ่งให้หมดก่อนค่อยมาเริ่มทำกับสิ่งที่สำคัญของเรา สุดท้ายเราจะผิดหวัง เพราะเราไม่มีทางทำทุกอย่างเสร็จและมีเวลาว่างมาทำ ทางเลือกเดียวคือถ้ามันสำคัญมากก็ให้ทำมันก่อนเลย 

โดยสรุป ผมแนะนำและอยากให้ลองอ่านดู ผมว่าเราได้อะไรเยอะมากจากหนังสือเล่มนี้ อย่างน้อยก็ได้สิ่งที่มาคานหรือช่วยแย้งความคิดที่ว่าเราจะต้องบริหารจัดการเวลาและทำอะไรทุกอย่างให้สำเร็จให้เสร็จและให้เกิดประโยชน์ที่สุด เพราะจริง ๆ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้นเลยครับ