Pure Theory of Law: Hans Kelsen
Hans Kelsen (ฮันส์ เคลเซ่น) คือ นักนิติศาสตร์ผู้ที่มีเป้าหมายในการแยกวิชา “นิติศาสตร์” (science of law – jurisprudence) ออกจากศีลธรรม ความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม จริยศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา ชีววิทยา เทววิทยา การเมือง ฯลฯ โดยเคลเซ่นมองว่าเราควรจะต้องแยก “กฎหมายที่เป็นอยู่” กับ “กฎหมายที่ควรจะเป็น” ออกจากกัน เพราะมันมีความแตกต่างกันอย่างมาก
หากเราต้องการจะทำให้วิชานิติศาสตร์มีลักษณะเป็นศาสตร์อย่างแท้จริง จะต้องทำให้วิชานิติศาสตร์มุ่งอธิบายกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริงในบ้านเมือง (positive law) และอธิบายกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริงในบ้านเมืองตามแนวภววิสัย (objective)1 ดังนั้น วิชานิติศาสตร์ต้องมุ่งศึกษาเรื่องของโครงสร้างกฎหมาย ระบบเชื่อมโยง เหตุและผล โดยขจัดทิ้งสิ่งที่เป็นคุณค่าที่ไม่ชัดเจนแน่นอนออกไปให้หมด แนวคิดเช่นนี้ได้นำไปสู่การสร้างทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ขึ้นมา ซึ่งเคลเซ่นเอาความเป็นสากลของวิทยาศาสตร์มาอธิบายทฤษฎีกฎหมาย แทนความคิดเดิม ๆ ที่มักจะเอาระบบการเมืองมาใช้อธิบายกฎหมาย2
บทความนี้จะอธิบายย่อ ๆ ภาพรวมเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ ที่เกิดจากการที่ผู้เขียนจับพลัดจับพลูไปอ่านงานเขียนของเคลเซ่น (เริ่มต้นจากหนังสือของคุณสุรินทร์) แล้วเห็นว่าน่าสนใจมาก จึงได้มาสรุปบันทึกไว้ กันหลงลืม เพื่อจะได้ศึกษาเชิงลึกในวันข้างหน้ากันต่อไปครับ
ความคิดเบื้องต้นของทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์
ทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ (Reine Rechtslehre; Pure Theory of Law) ที่เคลเซ่นพัฒนาขึ้นมา เป็นหนึ่งในทฤษฎีทางนิติศาสตร์ที่สำคัญและโด่งดังมากในศตวรรษที่ 20 โดยคำว่า “บริสุทธิ์” บ่งบอกถึงการปราศจากคุณค่าและอุดมการณ์ต่าง ๆ (อุดมการณ์ทางการเมือง ความยุติธรรม ความชอบธรรม) ซึ่งเป็นสิ่งปลอมปนในวิชานิติศาสตร์ เพราะคุณค่าและอุดมการณ์มีความไม่แน่นอนและเป็นอัตวิสัย (subjective)3 อันเนื่องมาจากมันมีความแตกต่างกันไปบนฐานความคิด ความเชื่อ มุมมองของคนแต่ละคน จึงเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากขจัดคุณค่าและอุดมการณ์ต่าง ๆ ออกไปแล้ว วิชานิติศาสตร์ก็จะชัดเจนคล้ายคลึงกับการศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์
เคลเซ่นโต้แย้งเรื่องการเอาความยุติธรรมมาปะปนกับกฎหมาย เขาเห็นว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องของแต่ละคน คน ๆ หนึ่งย่อมเลือกคุณค่าบางอย่างที่ตนชื่นชอบมากกว่าอีกคนหนึ่ง แล้วบอกว่าคุณค่านี้ (หรือความยุติธรรม) แบบนี้ดีกว่าอีกอัน เช่น เสรีภาพกับความสงบเรียบร้อย หรือเสรีภาพกับความมั่นคง สองสิ่งนี้มักจะขัดแย้งกันเพราะคนที่พูดว่าอันไหนดีกว่าสำคัญกว่าก็มักจะยึดถือความเชื่ออย่างหนึ่ง คนล้านคนก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป ทำให้พวกคุณค่านี้ใช้วัดแน่นอนไม่ได้ ไม่เหมือนกับการวัดในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าสสารหรือวัตถุใดหนักกว่ากัน ระหว่างน้ำกับน้ำมันอะไรหนักกว่า พวกนี้มีมาตรวัดชัดเจน มาตรวัดแบบภววิสัย ไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนวัด ไม่ใช่การที่คนวัดเชื่อว่าอะไรจะหนักกว่ากัน เมื่อเราตัดเรื่องความยุติธรรมออกไปแล้ว นิติศาสตร์จึงไม่ต้องไปยุ่งกับคำถามที่ว่า อะไรคือความยุติธรรม? เพราะจะเหลือแค่ปัญหาทางนิติศาสตร์ว่า อะไรคือกฎหมาย? กฎหมายมีกลไกการทำงานอย่างไร?
ทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์กับนิติศาสตร์
วิชานิติศาสตร์ในมุมมองของทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์จึงเป็นความรู้ที่เป็นภววิสัยเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริง ๆ ที่ถูกกำหนดและสร้างโดยมนุษย์ นิติศาสตร์จึงศึกษาโครงสร้างทางรูปแบบของกฎหมาย โดยไม่ต้องไปสนใจเนื้อหาของกฎหมาย เพราะนั่นเป็นขอบเขตของศาสตร์อื่นหรือบรรทัดฐานอื่น ผลลัพธ์ของแนวคิดเช่นนี้ส่งผลให้ วิชานิติศาสตร์จะไม่ตั้งคำถามในเรื่องศีลธรรมกับกฎหมาย4 นิติศาสตร์รับรู้แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นกฎหมาย จะชอบธรรมหรือไม่ นั่นควรปล่อยให้เป็นเรื่องของศีลธรรมที่จะวินิจฉัย5 ส่วนจะยุติธรรมหรือไม่ก็เป็นเรื่องของความยุติธรรมและการให้คุณค่าของผู้ที่ตัดสินหรือกำหนดนโยบาย ความบริสุทธิ์ของทฤษฎีกฎหมายจึงแยกต่างหากจากความยุติธรรม เพราะความบริสุทธิ์เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ส่วนความยุติธรรมเป็นเรื่องทางการเมือง6
“เคลเซ่นสร้างทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ขึ้นบนรากฐานของแนวความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ จากการมองกฎหมายหรือวิเคราะห์กฎหมายเฉพาะตัวกฎหมายที่ปรากฏอยู่ล้วน ๆ โดยแยกกันเรื่องศีลธรรม การเมือง ความยุติธรรม หรือสังคมวิทยาออกไป เคลเซ่นเห็นว่า ทฤษฎีกฎหมายจะต้องบริสุทธิ์ในแง่ที่ว่ามันจะต้องสร้างแนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายขึ้นมาเองโดยไม่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่น ๆ”7
ตรงนี้ล่ะครับที่ทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์โดดเด่นขึ้นมาและโดนรุมยำรุนแรงเช่นกัน เมื่อทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์เสนอให้นิติศาสตร์หยุดอยู่แค่การศึกษากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริงโดยไม่สนใจเรื่องอื่น ทฤษฎีนี้จึงยอมรับกลาย ๆ กับกฎหมายที่มีเนื้อหาไม่ยุติธรรม เนื้อหากฎหมายจะเป็นอย่างไรก็ได้ หากมีสภาพบังคับก็เพียงพอ แต่ทฤษฎีนี้ก็ตอบคำถามในใจเราเหมือนกันว่า แล้วเราจะจัดการกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมหรือไม่ยุติธรรมอย่างไร เนื่องจากทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์มองว่า สิ่งอื่น ๆ อย่างเช่น ศีลธรรมอาจสร้างหรือทำลายความชอบธรรมแก่กฎหมายและระบบกฎหมายได้8 เรื่องพวกนั้นต้องยกให้ศีลธรรมและความยุติธรรมไป ในขณะที่นิติศาสตร์ตามทฤษฎีของเคลเซ่นจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะตามทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์จะหยุดอยู่ที่การค้นหาความจริงและความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริง ๆ เท่านั้นพอ แน่นอนว่าพอให้ความเห็นแบบนี้ ทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์จึงถูกจัดกลุ่มไปยืนคู่กับทฤษฎีหรือสำนักกฎหมายบ้านเมือง และขัดแย้งกับความคิดตามทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ9
เมื่อนิติศาสตร์เป็นศาสตร์แล้ว นิติศาสตร์หรือกฎหมายจะกลายเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยบรรทัดฐาน หรือว่าด้วยปทัสถาน (normative science)10 นิติศาสตร์จะต้องศึกษา “บรรทัดฐานทางกฎหมาย” หรือปทัสถานทางกฎหมาย (legal norms) โดยที่บรรทัดฐานทางกฎหมายทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นระบบกฎหมายจะกลายเป็นวัตถุในการศึกษาของนิติศาสตร์ และวิธีการในการศึกษา (method) จะต้องอาศัยตรรกวิทยา11 หากนิติศาสตร์เป็นไปตามกรอบคิดนี้ นิติศาสตร์ก็จะสร้างความรู้ทางนิติศาสตร์ขึ้นมามากมาย เช่น ความรู้เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ ความรับผิด ประธานแห่งสิทธิ วัตถุแห่งสิทธิ บุคคลสิทธิ ทรัพยสิทธิ ฯลฯ
ทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์กับบรรทัดฐาน
เคลเซ่นเห็นว่า บรรทัดฐาน (norms) เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นหรือควรจะเกิดอันหมายถึงสิ่งที่มนุษย์ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างแน่นอน12 หากพิจารณาเฉพาะกฎหมายก็จะพบว่า กฎหมายเป็นบรรทัดฐานความประพฤติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกฎเกณฑ์ที่มุ่งใช้บังคับความประพฤติของมนุษย์ (มนุษย์สร้างบรรทัดฐานมากำหนดความประพฤติของมนุษย์ด้วยกัน) กฎหมายจึงเป็นเทคนิคพิเศษในการจัดระเบียบสังคมโดยมีกำลังกายภาพในการบังคับ นั่นคือ กฎหมายเป็นระเบียบความประพฤติของมนุษย์ที่มีลักษณะบังคับ
เคลเซ่นเสนอแนวคิดแยกบรรรทัดฐานออกได้อีก 2 ประเภท คือ
(1) บรรทัดฐานปฏิฐาน (positive norms) ซึ่งก็คือกฎหมาย ซึ่งบรรทัดฐานทางกฎหมาย (legal norms) ก็จะมีทั้ง บรรทัดฐานทางกฎหมายทั่วไป และบรรทัดฐานทางกฎหมายเฉพาะ โดยบรรทัดฐานทางกฎหมายนี้เป็นบรรทัดฐานที่มนุษย์สร้างขึ้น ตามกฎแห่งบรรทัดฐาน (law of imputation)13
(2) บรรทัดฐานที่ไม่เป็นปฏิฐาน (non-positive norms) อันเป็นบรรทัดฐานที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น แต่มีอยู่แล้วในจิตใจของมนุษย์และมนุษย์รู้สึกได้เอง เช่น ความดีงาม ความยุติธรรม ความสุข อันเป็นเรื่องศีลธรรม การเมือง ศาสนา ฯลฯ โดยจะเรียกรวมกันว่า บรรทัดฐานทางการเมือง (political norms)14
นอกจากนี้ ตามทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ บรรทัดฐานหรือปทัสถาน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ บรรทัดฐานทั่วไป (ปทัสถานทั่วไป) และบรรทัดฐานเฉพาะ (ปทัสถานเฉพาะ)
อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับบรรทัดฐานทั่วไปและบรรทัดฐานเฉพาะ (โดยยกเรื่องบรรทัดฐานทางกฎหมายมาประกอบ) บรรทัดฐานทั่วไปจะถูกสร้างขึ้นล่วงหน้าโดยสถาบันที่มีอำนาจในการสร้างกฎหมายเพื่อก่อผลบังคับเป็นการทั่วไปสำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต15 เช่น ประมวลกฎหมายอาญาที่มีมาตราจำนวนมากกำหนดความรับผิดในทางอาญาเอาไว้ และใครฝ่าฝืนหรือกระทำผิดทางอาญาก็ควรจะต้องได้รับโทษ ส่วนอีกบรรทัดฐานหนึ่ง คือ บรรทัดฐานเฉพาะ เป็นบรรทัดฐานที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่ง เช่น ผู้พิพากษาที่ทำคำพิพากษาในแต่ละคดี ย่อมถือได้ว่าผู้พิพากษาคนนั้นได้สร้างบรรทัดฐานเฉพาะคดีขึ้นมาแล้ว ทั้งนี้บรรทัดฐานทั้งสองแบบจะถูกสร้างขึ้นมาจำนวนมากและมีพัฒนาการหรือมีพลวัตไปตามเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม16 จะไม่มีการหยุดนิ่ง อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรืออาจมีการยกเลิกโดยบรรทัดฐานใหม่ ๆ ก็ได้
นอกจากนี้ เมื่อกฎหมายเป็นบรรทัดฐานความประพฤติของมนุษย์ อันเกิดจากอำนาจบังคับหรือระบบระเบียบที่มีการบังคับ จึงเป็นการแตกต่างจากศีลธรรม เพราะกฎหมายมีพลังในการบังคับหรือมีสภาพบังคับ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ และจะถูกบังคับให้ปฏิบัติในท้ายที่สุด (ต่างจากศีลธรรมที่ไม่มีสภาพบังคับ) และทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์มองว่า กฎหมายใช้บังคับได้เสมอถ้ากฎหมายนั้นตั้งอยู่บนบรรทัดฐานที่สูงกว่า และกฎหมายนั้นได้ผ่านกระบวนการที่กำหนดไว้ออกมาแล้ว เช่น ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติหรือผ่านการสร้างโดยผู้พิพากษา (ในระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์)
เคลเซ่นแยกบรรทัดฐานทางกฎหมายออกจากบรรทัดฐานอื่น ๆ บรรทัดฐานทางกฎหมายต้องมีสภาพบังคับ และเมื่อบรรทัดฐานกฎหมายรวมกันเป็นระบบกฎหมาย บรรทัดฐานทางกฎหมายแต่ละบรรทัดฐานจะต้องตั้งอยู่หรือเกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานทางกฎหมายอื่น สอดผสานสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ในรูปของพีระมิด เป็นห่วงโซ่แห่งความสมบูรณ์ (Chain of Validity)17 กล่าวคือ บรรทัดฐานกฎหมายหนึ่งตั้งอยู่บนบรรทัดฐานกฎหมายอีกอัน หรือในอีกแง่หนึ่ง อาจมองว่า ต้องมีบรรทัดฐานทางกฎหมายที่สูงกว่าหรือมีอำนาจมากกว่าเป็นฐานรองรับบรรทัดฐานที่ต่ำกว่า หรือบรรทัดฐานที่ต่ำกว่าต้องอาศัยอำนาจจากบรรทัดฐานที่สูงกว่า และบรรทัดฐานที่สูงกว่าจะให้พลังบังคับหรือสภาพบังคับกับบรรทัดฐานที่ถูกสร้างขึ้นนั้นด้วย
ในบรรดาบรรทัดฐานทางกฎหมายทั้งหมด บรรทัดฐานที่ต่ำสุดคือ บรรทัดฐานเฉพาะกรณี ส่วนบรรทัดฐานที่เป็นรากฐานของบรรทัดฐานกฎหมายทั้งหมด หรือพอเรามองไปถึงบรรทัดฐานสุดท้ายที่มีอำนาจหรือพลังสูงที่สุด บรรทัดฐานนั้นเรียกว่า บรรทัดฐานขั้นมูลฐาน (Grundnorm or Basic norms) ซึ่งเป็นสิ่งสมมติที่ไม่ต้องพิสูจน์ (อ้าว) เพราะมันเป็นสมมติฐานของระบบบรรทัดฐานทางกฎหมาย เป็นภาพสมมติในทางทฤษฎี เสมือนว่าเราค้นไปหาบรรทัดฐานสุดท้าย ไอ้เจ้าสิ่งนี้จะเรียกว่า บรรทัดฐานขั้นมูลฐาน ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับบรรทัดฐานตั้งอยู่บนบรรทัดฐาน คล้ายคลึงกับเรื่องของลำดับศักดิ์แห่งกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายอันหนึ่งย่อมต้องตั้งอยู่บนรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่สูงกว่า แล้วรัฐธรรมนูญมาจากไหนก็จะย้อนไปได้เรื่อย ๆ จนไปถึงบรรทัดฐานขั้นมูลฐานนั่นเองครับ
เพราะฉะนั้นภาพของปีระมิดบรรทัดฐาน จะมีบรรทัดฐานขั้นมูลฐานเป็นยอดพีระมิดบนสุด ฐานในชั้นล่าง ๆ คือ บรรทัดฐานที่ถูกสร้างและอาศัยกำลังของบรรทัดฐานขั้นมูลฐานอีกที ต่อเนื่องลงไปเรื่อย ๆ (Basic norms > norm 1 > norm 2 > norm…) นั่นเองครับ เพราะฉะนั้น ตามทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ กฎหมายเป็นเสมือนระบบแห่งบรรทัดฐานที่ความสมบูรณ์ของกฎหมายมาจากบรรทัดฐานขั้นมูลฐาน และการพิสูจน์ว่าบรรทัดฐานใดเป็นกฎหมาย ก็จะต้องพิจารณาว่า บรรทัดฐานนั้นตราหรือบัญญัติขึ้นมาโดยมีบรรทัดฐานอื่นที่เหนือกว่าให้อำนาจหรือไม่18
โดยสรุป
ทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ของเคลเซ่น คือ ทฤษฎีที่พยายามแยกการศึกษากฎหมายออกจากสิ่งปะปนอื่น ๆ เช่น ศีลธรรม การเมือง ความยุติธรรม และจากศาสตร์สาขาอื่น เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา เพื่อให้เกิดการศึกษากฎหมายในลักษณะที่มันบริสุทธิ์ เสมือนดั่งการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ ทำให้นิติศาสตร์เป็นวิชาที่มุ่งศึกษาความรู้ที่เป็นภววิสัยเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริง กฎหมายที่ถูกกำหนดและสร้างโดยมนุษย์ ศึกษาโครงสร้างทางรูปแบบของกฎหมาย โดยไม่ต้องไปสนใจเนื้อหาของกฎหมายในเชิงการเมือง ศีลธรรม ศาสนา ยุติธรรม ฯลฯ หรือก็คือ นิติศาสตร์จะมุ่งศึกษากฎหมายอันเป็นบรรทัดฐานความประพฤติของมนุษย์ที่มีสภาพบังคับ บนแนวคิดที่ว่า บรรทัดฐานทางกฎหมายที่เกิดขึ้นรวมกันเป็นระบบกฎหมายโดยตั้งอยู่บนบรรทัดฐานขั้นมูลฐานที่เป็นพลังฐานรากในการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายอื่น ๆ ขึ้นมา
ปล. ฮันส์ เคลเซ่น เคยเป็นศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเวียนนา (ออสเตรีย) คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยโคโลญ (เยอรมนี) และยังเคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรียด้วย โดยเขาเป็นผู้ที่เสนอว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่เหมาะสมในการรับภารกิจเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
บทความนี้เป็นเพียงการเกริ่นนำ สรุปสิ่งที่ผมอ่านทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ของเคลเซ่น สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเรื่องทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์และความคิดของฮันส์ เคลเซ่น ในไทยมีงานเขียนที่มีคุณภาพในเรื่องนี้จำนวนมาก ยกตัวอย่าง เช่น
1. หนังสือ “ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา” ของอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หน้า 457-485 (เล่มนี้ยังมีความคิดนิติปรัชญาสำคัญอื่นอีกมากมายไล่ตั้งแต่สมัยกรีกมาจนปัจจุบัน)
2. หนังสือ “นิติปรัชญา” ของอาจารย์จรัญ โฆษณานันท์ หน้า 59-72 (หนังสือของอาจารย์จรัญอธิบายความคิดนิติปรัชญาหลากหลายเหมือนเล่มบนของอาจารย์วรเจตน์)
3. หนังสือ “”ทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย” ของคุณสุรินทร์ สฤษฎ์พงศ์ (เล่มบางกะทัดรัด แต่สรุปรวบยอดความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ เหมาะสำหรับอ่านเป็นฐานในการทำความเข้าใจเชิงลึก)
แต่อันที่จริงแล้วถ้าจะให้เข้าใจโดยตรง เราต้องไปอ่านงานเขียนโดยตรงของเคลเซ่น คือ หนังสือ Reine Rechtslehre (พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 1960) ของเคลเซ่น ซึ่งเขียนเป็นภาษาเยอรมัน ทั้งนี้มีแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Pure Theory of Law ครับ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้เริ่มต้นสนใจ หนังสือของอาจารย์วรเจตน์ อาจารย์จรัญ และคุณสุรินทร์ จะช่วยวางพื้นฐานในการทำความเข้าใจภาพรวมและทฤษฎีสำหรับศึกษาเชิงลึกต่อไปได้อย่างดีครับ
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย, 2561), หน้า 464. ↵
- สุรินทร์ สฤษฎ์พงศ์, ฮันส์ เคลเซ่น และทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2562), หน้า 11. ↵
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา, หน้า 464. ↵
- Ibid., p. 472. ↵
- Ibid. ↵
- สุรินทร์ สฤษฎ์พงศ์, ฮันส์ เคลเซ่น และทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย, หน้า 21. ↵
- จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ 19 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558), หน้า 63. ↵
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา, หน้า 472. ↵
- Ibid., p. 473. ↵
- สุรินทร์ สฤษฎ์พงศ์, ฮันส์ เคลเซ่น และทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย, หน้า 29. ↵
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา, หน้า 469. ↵
- จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา, หน้า 62. ↵
- สุรินทร์ สฤษฎ์พงศ์, ฮันส์ เคลเซ่น และทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย, หน้า 60. ↵
- จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา, p. 64. ↵
- สุรินทร์ สฤษฎ์พงศ์, ฮันส์ เคลเซ่น และทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย, หน้า 30. ↵
- Ibid., p. 32. ↵
- จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา, หน้า 65; วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา, หน้า 476. ↵
- จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา, หน้า 65. ↵