การเลือกปฏิบัติในการเลือกลูกขุน

การเลือกปฏิบัติในการเลือกลูกขุน

บทความโดย ศรัณย์ พิมพ์งาม

หากใครดูหนังที่มีฉากเกี่ยวกับคดีอาญาจากฝั่งสหรัฐอเมริกา เราจะเห็นว่ากระบวนพิจารณาคดีอาญาในสหรัฐอเมริกาใช้ระบบลูกขุน (Jury System) เป็นเอกลักษณ์ติดตา (ขนาดคนอเมริกันเองก็เห็นจนชินตาผ่านหนังด้วย)1 คราวนี้มีคำถามว่า ระบบการคัดเลือกลูกขุนของสหรัฐ ป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติจากเชื้อชาติ (Racial Discrimination) ที่คุ้นหูหน่อยก็คือ ป้องกันการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิวอย่างไร ทำอย่างไรให้องค์คณะลูกขุนประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ สีผิว ผลจากการศึกษาพบว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่นักกฎหมายของสหรัฐอเมริกาต้องการแก้ไขปัญหาอยู่ครับ

1. ลูกขุนคือใครและระบบลูกขุนคืออะไร

ในเชิงทฤษฎีกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ลูกขุนมีอำนาจอย่างมากและแทบจะไม่ถูกควบคุมโดยใคร2 สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน (Right to Trial by Jury) เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ระบบลูกขุนตั้งอยู่บนรากฐานความคิดและความเชื่อที่ว่า การใช้คนธรรมดาสามัญในการตัดสินคดีจะอำนวยความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะลูกขุนเป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่มีส่วนได้เสีย ตัดสินใจร่วมกันเป็นกลุ่ม สอดคล้องกับสภาพสังคมของสหรัฐอเมริกาที่ผสมผสานกันด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม ทั้งยังตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่าคนทั่ว ๆ ไปที่มีสติปัญญาปกติ ย่อมสามารถใช้สามัญสำนึกวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงได้อยู่แล้ว

ระบบพิจารณาคดีของสหรัฐอเมริกาเป็นระบบกล่าวหา (Adversarial System) ฝ่ายที่กล่าวอ้างย่อมมีหน้าที่หรือภาระในการพิสูจน์และต้องแสดงหลักฐานนำสืบแก่ลูกขุน ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีอาญาจะประกอบไปด้วยหลักการสำคัญพื้นฐาน เช่น ต้องมองจำเลยว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิจารณาและตัดสินว่ากระทำความผิด และหากพยานหลักฐานไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือจะต้องยกประโยชน์ให้กับจำเลย เมื่อลูกขุนพิจารณาแล้วจะแจ้งให้ผู้พิพากษาทราบว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ โดยคำวินิจฉัยหรือคำตัดสินของลูกขุน (Verdict) โดยทั่วไปต้องเป็นมติเอกฉันท์ ที่ไม่ต้องแสดงเหตุผล และมีผลเด็ดขาดเป็นที่สิ้นสุด อุทธรณ์ต่อไม่ได้ 

ในกระบวนการพิจารณาคดีอาญานั้น จะมีการแบ่งหน้าที่กันระหว่างคณะลูกขุนกับผู้พิพากษา โดยผู้พิพากษาจะทำการตัดสินประเด็นข้อกฎหมาย (law) เช่น จำเลยจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายใด ส่วนลูกขุนจะพิจารณาประเด็นข้อเท็จจริง (fact) ว่า จำเลยมีการกระทำผิดหรือไม่ อย่างไรก็ดี ศาลสูงหรือผู้พิพากษาเองก็ยังมีอำนาจในการเพิกถอนคำตัดสินที่ปราศจากหลักฐานมาสนับสนุน ซึ่งอำนาจตรงนี้ถือเป็นอำนาจในการตัดสินประเด็นข้อกฎหมายของผู้พิพากษา

ทว่าในความเป็นจริงนั้น ลูกขุนเองก็ไม่ได้เพียงแต่จะพิจารณาเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริง เพราะลูกขุนมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการปรับใช้กฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงและร่างออกมาเป็นข้อสรุปในที่ท้ายสุด (draw the ultimate conclusion) ซึ่งกระบวนการนี้มีชื่อเรียกว่า ปัญหาที่ผสานกันระหว่างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย (mixed fact-law question)3 เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าคนขับรถขับด้วยความเร็วเท่าไหร่ในขณะที่เกิดอุบัติเหตุเป็นข้อเท็จจริงที่ลูกขุนตัดสินได้เอง ตัวอย่างของปัญหาผสมระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายก็คือคำถามที่ว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วดังกล่าวบนสภาพถนนและสภาพอากาศเช่นนั้นเป็นการขับรถโดยประมาทหรือไม่ ประเด็นเช่นนี้ลูกขุนจะปรับใช้นิยามตามกฎหมายเรื่อง ประมาทเลินเล่อ ที่ผู้พิพากษาได้อธิบายชี้แจง (Instruction) เข้ากับข้อเท็จจริงดังกล่าว แล้วทำเป็นคำตัดสิน (Verdict) ออกมา

โดยปกติคณะลูกขุนที่พิจารณาคดี (Jury Trial) จะมีจำนวนเป็นเลขคู่ ตัวเลขในระบบศาลของรัฐบาลกลาง (Federal) จะมีลูกขุนจำนวน 12 คน หากแต่ในระดับมลรัฐนั้น มลรัฐต่าง ๆ อาจกำหนดตัวเลขอื่นทว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ที่ 6 คน ซึ่งตัวเลขลูกขุนส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่กันที่ 12 คนเหมือนรัฐบาลกลางนั่นล่ะครับ โดยหลักทั่วไป ลูกขุนทั้งสิบสองคนต้องมีมติเป็นเอกฉันท์จึงจะวินิจฉัยลงโทษจำเลยได้ หากแต่ในระดับมลรัฐนั้นไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับกฎหมายของมลรัฐนั้น ๆ จะกำหนดอย่างไร

2. ระบบการคัดเลือกลูกขุน

ระบบคัดเลือกลูกขุนเป็นระบบแบบสุ่ม (Random Selection) โดยรายชื่อจะมาจากบัญชีรายชื่อของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งหรือผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ในเขตศาลนั้น สุ่มมาเป็นตะกร้าหรือกองลูกขุน (Jury pools or Jury Venire) ซึ่งลูกขุนจะถูกเลือกจากกองลูกขุนนี้อีกทีในกระบวนการถัดไป

โดยปกติแล้วผู้ประกอบวิชาชีพบางอย่างอาจจะถูกคัดออกจากกองไปเลย เช่น แพทย์ ตำรวจ พนักงานดับเพลง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักกฎหมาย จุดประสงค์ก็เพื่อให้คณะลูกขุนเป็นกลุ่มคนธรรมดาสามัญประกอบอาชีพทั่ว ๆ ไป หากแต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่า หลาย ๆ อาชีพเริ่มไม่ถูกคัดออก เริ่มมีการยอมรับว่านักกฎหมายก็เป็นลูกขุนได้ โดยเหตุผลประการสำคัญก็คือ การให้บริการเป็นลูกขุน (Jury Services) นั้นถือเป็นสิทธิของพลเมืองที่มีความสำคัญมากกว่า

เมื่อได้กองผู้มีสิทธิจะเป็นลูกขุนมาแล้ว ระบบการคัดเลือกก็ยังไม่จบ เพราะกองลูกขุนนี้จะถูกคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นลูกขุนอีกครั้งโดยทางฝ่ายทนายความทั้งสองฝ่าย ซึ่งในคดีอาญาก็จะแบ่งเป็นทนายฝ่ายโจทก์ ซึ่งก็คืออัยการ (Prosecutor) กับทนายฝ่ายจำเลย (Defense Lawyer) โดยในรอบแรกนั้น กองลูกขุนจะมีจำนวนลูกขุนให้เลือกค่อนข้างมาก แต่ทนายทั้งสองฝ่ายจะเริ่มคัดลูกขุนออกเรื่อย ๆ ด้วยระบบการคัดคนออกจากกองผู้มีสิทธิจะเป็นลูกขุน จนกระทั่งเหลือจำนวนลูกขุนจำนวนหนึ่ง เช่น จาก 50 คน ผ่านการคัดเลือกจะเหลือราว ๆ 16 คน เป็นคณะลูกขุนจริง 12 ที่เหลือจะเป็นตัวสำรอง

ระบบการคัดคนออกจากกองผู้มีสิทธิจะเป็นลูกขุนนี้เรียกว่า “Peremptory Strikes” หรือ Peremptory Challenges” ซึ่งระบบนี้นี่ล่ะครับที่สร้างปัญหาการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุจากชนชาติหรือสีผิว แม้ในทางทฤษฎีนั้น Congress ได้ออกกฎหมาย the Civil Rights Act of 1875 เพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเชื้อชาติหรือการเหยียดชนชาติเหยียดผิว (Racial Discrimination) อีกทั้งหลักกฎหมาย Equal Protection Clause ในรัฐธรรมนูญ ยังได้เคยถูกตีความในคดี Batson v. Kentucky ปี 1986 ว่า ทนายความไม่อาจคัดลูกขุนทิ้งโดยใช้เหตุผลเรื่องเชื้อชาติ (basis of race) จะต้องคัดทิ้งโดยใช้เหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ (race-neutral reason)

คดี Batson v. Kentucky นี้ มีข้อเท็จจริงว่าอัยการใช้ระบบ Peremptory Strikes นี้ในการคัดคนผิวดำที่มีสิทธิถูกเลือกเป็นลูกขุนทิ้งไป จำเลยได้ทำการฎีกาเรื่องนี้สู่ศาลฎีกาและชนะในประเด็นนี้ ทำให้ต่อมา ถ้าฝ่ายใดสงสัยว่า กำลังมีการเลือกคัดลูกขุนทิ้ง (dismiss) ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับเชื้อชาติหรือผิว พวกเขาสามารถยื่น Batson Challenge ให้ศาลตัดสินว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และให้ผู้ถูกกล่าวหา เช่น อัยการ จะต้องมาอธิบายเหตุผลให้ศาลฟังว่าตนคัดลูกขุนทิ้งด้วยเหตุผลใด

3. การเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ

ในทางปฏิบัติ แรงจูงใจในเรื่องการคัดผู้มีสิทธิเป็นลูกขุนทิ้งมักจะเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติและการเหยียดผิว เพราะในทางปฏิบัติยังคงพบว่า คนผิวสี (People of Color) ยังคงถูกกีดกันจากการเป็นลูกขุนในกระบวนการพิจารณาคดีอาญาสำคัญ ๆ และคดีอาญาที่มีโทษประหารชีวิต สาเหตุก็เพราะระบบ Peremptory Strikes นี้ ทั้งอัยการและทนายฝ่ายจำเลยสามารถขัดขวางจำนวนลูกขุนได้โดยไม่ต้องอธิบายเหตุผลต่อศาล อัยการหรือทนายความก็จะทำการคัดลูกขุนทิ้งโดยเลือกใช้เหตุผลที่ดีหรือเหตุผลอื่นบังหน้าแทน ทั้ง ๆ ที่เหตุผลจริงในการคัดทิ้ง คือ ต้องการคัดทิ้งลูกขุนผิวดำออก (หรือผิวขาว) และมันก็เป็นการยากลำบากที่ศาลจะตัดสินได้ว่าอัยการมีเหตุผลจริง ๆ เช่นไร ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเหตุผลเกี่ยวกับอคติโดยไม่รู้ตัว (Unconscious Biases)

อัยการจำนวนหนึ่งจะใช้ระบบนี้เพื่อเพิกถอนลูกขุนที่ไม่ใช่คนผิวขาว เพราะจากข้อมูลทางสถิติและงานวิชาการได้ค้นพบว่า ลูกขุนผิวดำหรือผิวสีมีแนวโน้มที่จะตัดสินให้จำเลยไม่ต้องรับผิด และถ้าลูกขุนมีคนผิวขาวจำนวนมาก ผลลัพธ์ของคดีมักจะออกมาในทางที่ลูกขุนมีความเห็นอกเห็นใจต่อจำเลยที่ไม่ใช่คนขาวน้อยลง คณะลูกขุนที่มีคนผิวขาวทั้งหมดจะตัดสินคดีไปในทางเป็นโทษต่อจำเลยผิวดำ มีข้อผิดพลาดมาก และมีการอภิปรายถกเถียงข้อเท็จจริงในคดีน้อย ด้วยเหตุนี้ ในทางกลับกัน ทนายฝั่งจำเลยซึ่งจะได้ใช้ Peremptory Strikes หลังจากที่อัยการได้ใช้ไปก่อนแล้ว มักจะใช้มันเพื่อตอบโต้การเลือกของอัยการด้วยการขอเพิกถอนลูกขุนที่เป็นคนขาวออกไป

งานวิจัยพบว่า อัยการบางพื้นที่มักจะคัด 20% ของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา (African-Americans) ออกไปจากกองลูกขุน เทียบกับการคัดทิ้ง 10% ของคนอเมริกันผิวขาว ในขณะที่ทนายจำเลยมักจะโต้กลับด้วยการคัดลูกขุนผิวขาวออกไปในอัตราพอกันที่ 22% เทียบกับการคัดคนผิวดำออก (อัตรา 10%) จากบรรดาผู้มีสิทธิเป็นลูกขุนที่เหลืออยู่ภายหลังจากที่ผู้พิพากษาและอัยการได้เลือกไปก่อนหน้าแล้ว

งานวิจัยที่สัมภาษณ์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ค้นพบว่า อัยการชอบใช้เหตุผลอื่น ๆ ในการคัดลูกขุนทิ้ง เช่น ให้เหตุผลว่าที่คัดทิ้งเพราะดูมีสติปัญญาต่ำ เคี้ยวหมากฝรั่ง ใส่แว่นกันแดดตลอดเวลา ใส่เสื้อยืด เหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุผลกล่าวอ้างเพื่อเป็นการหลบหลีกไม่ให้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ (Anti-Discrimination Law) ส่วนทนายฝั่งจำเลยหลายครั้งก็เพิกเฉย ไม่ยกประเด็นเรื่องการเลือกลูกขุนโดยมีอคติด้านเชื้อชาติและสีผิว เพราะทนายจำเลยบางคนไม่สบายใจ ไม่อยากทำ ไม่ได้เตรียมตัวมา หรือบางคนก็ไม่ได้ถูกฝึกฝนให้ยกหลักการไม่เลือกปฏิบัติขึ้นอ้างยัน

ตัวอย่างคดีที่น่าสนใจ เช่น คดีฆาตกรรมวิสามัญวัยรุ่นผิวดำ Laquan McDonald โดยตำรวจผิวขาวชื่อ Jason Van Dyke ที่ตำรวจชิคาโก้ผิวขาวยิงวัยรุ่นผิวดำ ในกระบวนการพิจารณาคดีอาญานี้ ประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติหรือสีผิวเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี แต่กลับพบว่าในบรรดาลูกขุนทั้งหมดมีคนผิวดำแค่หนึ่งคนเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นคดีในเขต Cook ซึ่งหนึ่งในสี่ของประชาชนเป็นคนผิวดำ

หรือคดี Curtis Giovanni Flowers ที่ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันฆาตกรรมคนสี่คนในร้านเฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต ส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีพบว่า อัยการได้เลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง อัยการมีโอกาสที่จะคัดคนผิวดำ 43 คนจากกองลูกขุน อัยการคนนี้คัดทิ้งไป 41 คน ในขณะที่แทบจะไม่คัดทิ้งคนผิวขาวเลย แถมอัยการผู้นี้ยังซักถามอย่างรุนแรงต่อลูกขุนผิวดำ แต่แทบจะไม่ถามอะไรเลยกับคนผิวขาว ในที่สุด Flower ถูกพิจารณาคดีโดย 12 ลูกขุนที่สิบเอ็ดคนมีผิวขาว มีคนผิวดำแค่คนเดียว ทั้ง ๆ ที่เขตดังกล่าวมีคนผิวดำอาศัยอยู่ในอัตรา 45% ของประชาการทั้งหมด นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่อัยการคัดลูกขุนทิ้งโดยอาศัยการเลือกปฏิบัติที่สร้างผลลัพธ์ให้องค์คณะลูกขุนพิจารณาคดีอาญาส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว แม้กระทั่งในพื้นที่ ๆ ที่คนผิวขาวเป็นคนส่วนน้อยก็ตาม

นักกฎหมายสหรัฐเห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการปฏิเสธสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาคดีในฐานะลูกขุนของพลเมืองโดยใช้การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและเหยียดผิว ซึ่งส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีอาญาขาดความหลากหลายทั้งในด้านมุมมองและประสบการณ์ชีวิต อีกทั้งยังเป็นการพรากสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับความยุติธรรมของลูกขุนซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชน ซึ่งในท้ายที่สุดจะก่อสภาวะที่ประชาชนทั่วเริ่มรู้สึกสิ้นหวังกับความน่าเชื่อถือและความชอบกฎหมายของศาล และแม้นักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้พิพากษาหลาย ๆ คนจะแสดงความคิดเห็นให้ยกเลิกระบบนี้เสีย แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เป็นผลครับ

 

  1. ทุกคนล้วนชินกับภาพจำที่ว่า ในกระบวนการพิจารณาคดีอาญา ศาลอยู่บนบังลังก์ ข้างหลังคือธงชาติ ทนายความอยู่ข้างหน้าสู้กันเองดั่งอัศวินบนหลังม้า การตรวจสอบพยานที่มาพร้อมเสียงว่า ขอคัดค้าน! ในอีกด้านก็มีกลุ่มของคณะลูกขุนนั่งฟังอยู่ see Lawrence M. Friedman, American Law in the 20th Century (New Haven: Yale University Press, 2002), p. 83.
  2. Lawrence M. Friedman, A History of American Law, 3rd ed. (New York: Simon & Schuster, 2007), p. 211.
  3. William Burnham, Introduction to the Law and Legal System of the United States, 6th ed. (St. Paul: West Academic Publishing, 2016), p. 93.

Comments