แนะนำหนังสือ: ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ – มุนินทร์ พงศาปาน
ก่อนที่จะมีหนังสือ “ระบบกฎหมายซีวิลลอว์: จากกฎหมายสิบสองโต๊ะสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของ ผศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน ออกสู่ท้องตลาด ในความคิดของผมนั้น วงการหนังสือกฎหมายของไทยขาดหนังสือเล่มที่อธิบายอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ (Civil Law) ที่อรรถาธิบายอย่างดีว่าเพราะอะไรหรือเหตุผลประกอบใดถึงยืนยันว่าประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ ซึ่งคุณูปการสำคัญยิ่งของหนังสือเล่มนี้ของอาจารย์มุนินทร์ คือ การอธิบาย การให้ความรู้ การตอบคำถาม และการเพิ่มแหล่งอ้างอิงให้แก่วงการวิชาการไทยต่อไปว่า ประเทศใช้นั้นใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์
แม้นิสิตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์น่าจะได้เรียนกันตั้งแต่ปีหนึ่งว่าประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ แต่ความเข้าใจผิด ๆ ก็ยังคงมีอยู่มาก เช่น หลายคนก็จำแต่เพียงว่าระบบกฎหมายซีวิลลอว์คือระบบกฎหมายที่ใช้ประมวลหรือมีประมวลกฎหมายเท่านั้น และพอเรียนกฎหมายไปสักพักในชั้นปีโต ๆ ก็เริ่มเห็นว่าบางครั้งแนวทางตีความกฎหมายของศาลก็ดูจะคล้ายกับแนวทางของระบบกฎหมายคอมมอลอว์ (Common Law) ซึ่งได้สร้างความเคลือบแคลงใจ อันส่งผลต่อไปในความไม่แม่นยำของฐานความคิดเกี่ยวกับระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ซึ่งได้กระทบต่อวิธีการใช้การตีความกฎหมาย (นิติวิธี)
พูดง่าย ๆ ก็คือ พอไม่แม่นว่าระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์คืออะไร พอต้องกลับมาสู่ฐานรากหรือพื้นฐานความรู้ที่ต้องย้อนไปหาความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบกฎหมาย ก็จะประสบปัญหาว่า ถ้าระบบกฎหมายไทยเป็นซีวิลลอว์แล้ว มันจะต้องใช้ ต้องตีความ ต้องเสนอความเห็น หรือต้องวิพากษ์กฎหมายอย่างไร ซึ่งการอ่านหนังสือระบบกฎหมายซีวิลลอว์ของอาจารย์มุนินทร์จะเพิ่มฐานความคิดตรงนี้ให้ท่านระดับหนึ่ง พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความเข้าใจว่า ทำไมกฎหมายโรมันถึงทวีความสำคัญอย่างมากในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ในภูมิภาคยุโรป และส่งผลต่อระบบกฎหมายของประเทศอื่น ๆ ดังเช่นกรณีของญี่ปุ่นและไทย
ตำราระบบกฎหมายซีวิลลอว์แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ บทนำ ภาคที่ 1 กฎหมายโรมัน ภาคที่ 2 Ius Commune และภาคที่ 3 การสร้างระบบกฎหมายซีวิลลอว์ในประเทศไทย
บทนำ เป็นส่วนที่สำคัญมาก ๆ ส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เพราะได้อธิบายความหมาย ลักษณะ พัฒนาการ และเอกลักษณ์ของระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถตอบได้ว่า ระบบกฎหมายใดจะเป็นระบบกฎหมายซีวิลลอว์ได้นั้นจะต้องเป็นระบบกฎหมายที่พัฒนามาจากกฎหมายโรมัน โดยระบบกฎหมายนั้นจะมีหลักกฎหมายเอกชนส่วนใหญ่ที่พัฒนามาจากกฎหมายโรมัน ทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะต้องเป็นบ่อเกิดที่สำคัญที่สุดในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ และเป็นระบบที่มีการจัดทำประมวลกฎหมายที่มีการรวบรวมและจัดหมวดหมู่ตามลักษณะโครงสร้างแบบกฎหมายโรมัน ซึ่งส่วนใหญ่จะแยกเป็น 2 ตระกูลหลัก คือ แบบฝรั่งเศส (Romanist) และแบบเยอรมัน (Germanist) ซึ่งประเทศไทยใช้ระบบโครงสร้างแบบเยอรมัน
ภาคที่ 1 กฎหมายโรมัน ได้ทำการอธิบายความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของกฎหมายโรมัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความโดดเด่นของกฎหมายโรมันในส่วนของการให้เหตุผลในทางกฎหมาย (legal reasoning) หนังสือพาไปทำความรู้จักโครงสร้างการปกครองของโรมันโดยเฉพาะในด้านกฎหมาย กฎหมายและกระบวนพิจารณาทางกฎหมายในโรมัน รวมไปถึงความเป็นมาของประมวลกฎหมายจัสติเนียน ซึ่งหลักกฎหมายโรมันหลายเรื่องก็ยังคงตกทอดมาเป็นหลักกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบแบ่งแยกแนวคิดเกี่ยวกับมูลคดีว่าเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับทรัพยสิทธิหรือสิทธิในทางทรัพย์ (in rem) หรือบุคคลสิทธิ/สิทธิในทางหนี่้ (in personam) หลักการยกข้อต่อสู้ของจำเลย (exceptio) หรือการแบ่งแยกบ่อเกิดแห่งหนี้เป็น สัญญา หนี้กึ่งสัญญา ละเมิด และหนี้กึ่งละเมิด
ภาค 2 Ius Commune จะเปิดโลกเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีพกฎหมายโรมันและการศึกษากฎหมายโรมันอันนำไปสู่การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งสำคัญ 2 ตระกูล คือ ตระกูลฝรั่งเศสที่นำโดยประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ค.ศ. 1804 (Code Civil) และตระกูลเยอรมันโดยประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ค.ศ.1900 (BGB) ในภาคนี้ของหนังสือยังแสดงที่มาว่าทำไม การศึกษากฎหมายจึงได้พัฒนามาเป็นการเรียนรู้แบบศาสตร์ (science) มีวิธี (method) ในการศึกษาความเป็นเหตุผล ค้นหาหลักการในทางกฎหมาย ทั้งในภาคนี้ยังยกเส้นทางแยกของระบบกฎหมายโลกที่นำไปสู่ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ การเกิดขึ้นของแนวคิดกฎหมายเปรียบเทียบ กฎหมายระหว่างประเทศ สำนักกฎหมายธรรมชาติ สังคมวิทยากฎหมาย และสำนักประวัติศาสตร์กฎหมาย
ภาค 3 การสร้างระบบกฎหมายซีวิลลอว์ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ผมยกให้เป็นจุดเด่นและส่วนสำคัญมากของหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากหนังสือที่เกี่ยวกับระบบกฎหมายไทยหรือประวัติศาสตร์กฎหมายไทย มักจะอธิบายไปถึงจุดที่ว่า ประเทศไทยได้เลือกใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์และการร่างประมวลกฎหมายสำคัญในไทยได้รับอิทธิพลจากผู้ร่างชาวฝรั่งเศสและอาศัยประมวลกฎหมายญี่ปุ่น (รวมถึงเยอรมัน) เป็นหลักในการร่างประมวลกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หากแต่หนังสือเล่มนี้ของอาจารย์มุนินทร์จุดประเด็นสำคัญแก่วงวิชาการเกี่ยวกับ การรับกฎหมายต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย และความเข้าใจผิดสำคัญที่เกิดขึ้นทั้งในหมู่ผู้ร่างกฎหมาย อันส่งผลมายังการใช้และตีความกฎหมายตลอดมา ซึ่งอาจารย์มุนินทร์ยังได้ยกกรณีของประเทศญีปุ่นที่แวดวงกฎหมายกระแสหลักเชื่อว่ากฎหมายเยอรมันคือแหล่งที่มาสำคัญ (เพียงอันเดียว) ของกฎหมายเอกชนญี่ปุ่น และความพิสดารอัศจรรย์ว่า ทำไมหนังสือเพียงเล่มเดียวของ J.E. De Becker (บนความเข้าใจผิดบางประการของผู้ร่าง) นำมาสู่ความสำเร็จลุล่วงด้วยดีของการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และ 2 ของไทย ผมยกให้ภาค 3 เป็นส่วนที่อ่านสนุกมาก และน่าจะกระตุ้นให้นักกฎหมายคิดวิเคราะห์เพลิน ๆ ไปตลอดทาง
โดยสรุปแล้ว หนังสือเล่มนี้ปูพื้นฐานความคิดอย่างดีให้กับผู้อ่านเกี่ยวกับระบบกฎหมายซีวิลลอว์ว่า เพราะอะไรถึงเรียกว่าระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ เพราะอะไรกฎหมายโรมันจึงเป็นแหล่งที่มาสำคัญของระบบกฎหมายซีวิลลอว์ เพราะอะไรทำไมประเทศไทยถึงใช้และถึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ดังข้อสรุปสุดท้ายของอาจารย์มุนินทร์ที่ว่า
“ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ของไทยเกิดขึ้นจากการ ‘ลอก’ บทบัญญัติของกฎหมายต่างประเทศ เป็นการลอกทั้งถ้อยคำตัวอักษรและหลักการทางกฎหมายที่อยู่เบื้องหลักตัวอักษร”
ท่านผู้อ่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปข้างต้น และผมก็ยังแนะนำว่า หนังสือเล่มนี้น่าอ่าน และเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งสำหรับนักศึกษากฎหมายระดับปริญญาตรี และคงจะเป็นอีกเล่มสำคัญที่นักกฎหมายระดับปริญญาโทน่าจะได้ใช้อ้างอิงในงานวิชาการต่อไป