1. ความผิดพลาดที่นำไปสู่ธุรกิจมูลค่ากว่าห้าหมื่นล้านบาท
TransferWise ก่อต่อตั้งโดยชาวเอสโตเนีย ชื่อ “Kristo Kaarmann” โดยจุดเริ่มมาจากที่ Kaarmann ตอนอายุ 28 ทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจอยู่กรุงลอนดอนแล้วได้โบนัส 10,000 ปอนด์ ขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยที่บ้านเกิดเขาคือประเทศเอสโตเนียดีกว่ามาก Kaarmann จึงอยากจะโอนเงินกลับบ้าน ซึ่งธนาคารอังกฤษคิดค่าธรรมเนียมการโอน 15 ปอนด์
ความตะลึงก็คือ พอเงินเข้าบัญชีที่เอสโตเนีย เขาตกใจมากที่เงินหายไปราว ๆ 500 ปอนด์ (5% ของเงินต้น) อันเกิดจากค่าธรรมเนียมการโอนข้ามประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารอังกฤษคิดสูงกว่าตลาด เขารู้สึกหัวเสียกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก ๆ แต่การหัวเสียนี้ไม่ใช่แบบคนทั่วไปที่หัวเสียแล้วก็หงุดหงิดฟึดฟัดแป๊บเดียว เพราะ Kaarmann ตัดสินใจที่จะสร้างธุรกิจโอนเงิน (Money-transfer firm) ระหว่างประเทศที่ตัดตัวกลางอย่างธนาคารทิ้งไป!
เจ้าตัวได้ไปคุยกับเพื่อนชื่อ Taavet Hinrikus ที่ทำงานอยู่สไกป์ (Skype) และด้วยความบังเอิญ ทั้งคู่มีความต้องการที่จะแลกเงินกันเองระหว่างสกุลปอนด์กับโครน จากเริ่มแรกที่ธุรกรรมโอนเงินระหว่างเพื่อนสองคนก็ขยายเครือข่ายไปเรื่อย ๆ จากจำนวนคนรู้จักชาวเอสโตเนียที่มากขึ้น ๆ ๆ ทั้งคู่เริ่มคิดว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดีในอนาคต จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัท TransferWise ในปี 2011 โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาดและคิดค่าธรรมเนียมเล็กน้อย (0.5%)
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันปัญหาด้านกฎหมาย บริษัทได้ขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับบริการการเงินของอังกฤษด้วย (Financial Services Authority)
ปัจจุบัน บริษัท TransferWise ได้กลายเป็นผู้เล่นระดับโลกในปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นแบบปากต่อปากของลูกค้า และด้วยการแนะนำจากนักเขียนบทความ ข่าว บล็อกเกี่ยวกับเทคโนโลยี ทำให้บริษัทมีผู้ใช้บริการกว่า 4 ล้านคน โอนเงินได้ 50 สกุลเงินใน 50 ประเทศ และมูลค่าการโอนเงินต่อเดือนสูงถึง 123,000 ล้านบาท
2. ตัดปัญหาตัวกลาง
TransferWise เกิดขึ้นมาจากปัญหาตัวกลางทางการเงิน (Middleman) โดยเฉพาะเหล่าธนาคารทั้งหลาย (traditional banks) เราจะเห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้บริการธนาคารได้ แม้กระทั่งบริษัทกลุ่มสตาร์ทอัพสายการเงินเองที่มักจะมีความฝันว่าจะพลิกโฉมวงการการเงินและฝันใหญ่ถึงการล้มแบงก์แล้วขึ้นเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน ส่วนใหญ่ก็ยังต้องจำใจทำธุรกรรมหรือพึ่งพาเครือข่ายบริการของธนาคารต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการชำระเงิน การกู้ยืมเงิน หรือการฝากเงิน แน่นอนว่าช่วงแรก TransferWise ก็หนีไม่พ้นเรื่องพวกนี้ แต่บริษัทก็ยังคงมีความความมุ่งมั่นที่จะพยายามทำให้ตัวเอง สามารถหลุดพ้นจากวงจรของธนาคารแบบดั้งเดิมได้ในที่สุด
จริง ๆ แล้วนอกจาก TransferWise ก็ยังมีบริษัทอื่นที่เป็นผู้เล่นหลักอยู่ในธุรกิจการโอนเงินรับเงิน อย่าง WorldRemit และ Remitly บริษัทพวกนี้ล้วนเป็นสตาร์ทอัพสายเทคโลโนยีด้านการเงินที่พยายามพลิกโฉลตลาดการโอนส่งเงินรับเงิน (remittance industry) ระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดนี้มูลค่าที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากในแต่ละปีจะมีเงินจำนวน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (18 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าขนาด GDP ของไทย โอนไปมาระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ทำธุรกรรมคือคนที่ไปทำงานต่างประเทศแล้วโอนเงินกลับบ้านให้ครอบครัว โดยมักจะเป็นชาวอินเดีย ฟิลิปปินส์ หรือเม็กซิโก
อย่างไรก็ดี แม้สมัยก่อนธนาคารต่าง ๆ จะเป็นผู้เล่นหลัก หากแต่การเกิดขึ้นมาของตัวกลางอย่าง Western Union และ MoneyGram ก็ทำให้ธนาคารต่าง ๆ เสียส่วนแบ่งตลาดการโอนและส่งเงินข้ามประเทศ นั่นทำให้บริษัทอย่าง TransferWise ต้องมาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากบริษัทพวกนี้ด้วย โดยจุดแข่งของบริษัทอย่าง TransferWise ก็คือค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับตัวกลางอื่น ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเราส่งเงิน 100 บาทข้ามประเทศ เราจะเสีย 11 บาทให้ธนาคาร เสีย 6 บาทให้กับ Western Union แต่จะเสียเพียงแค่ 3 บาทให้ TransferWise!