ชอบกฎหมายวิชาไหนกันบ้าง: มุมมองจากเพื่อนต่างชาติ

ระหว่างที่ผมได้เรียนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ คำถามหนึ่งที่ติดปากผมและมักจะถามเพื่อนที่สนิทกันระดับหนึ่งก็คือ “ตั้งแต่เรียนกฎหมายมา ชอบกฎหมายวิชาไหนที่สุด?” โดยปกติแล้ว ผมจะได้ยินได้ฟังคำตอบที่น่าสนใจที่หลายครั้งก็กระตุ้นความคิดให้เรากลับมาสนใจกฎหมายที่เพื่อนชอบ เพราะคำตอบส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยตรงกับวิชาที่คุณชอบสักเท่าไหร่ แต่นั่นล่ะครับ มันคือเสน่ห์และความหลากหลายของนักเรียนกฎหมาย เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะถนัดไปทุกกฎหมาย (แต่ก็มีคนแบบนี้เหมือนกัน ฮ่า ๆ) และบางคนแม้จะถนัดบางกฎหมายแต่อาจจะชอบบางกฎหมายมากกว่าก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน จากการถามเพื่อนต่างชาติมาหลายคน ผมก็ได้รับคำตอบจำนวนหนึ่ง ดังนี้

ชอบกฎหมายเครื่องหมายการค้าเพราะมันใช้สามัญสำนึกและสัญชาตญาณ (common sense and instinct) มาตอบได้

มีเพื่อนของผมสองคนที่ชอบกฎหมายเครื่องหมายการค้า (Trademark) คนหนึ่งคือ L. จากเยอรมัน คนนี้เป็นชายที่เก่งกฎหมายในหลายสาขามาก L. สามารถตอบและแสดงความเห็นได้ดีในหลายวิชาที่ผมเรียนด้วย ในหมู่เพื่อนนักเรียนกฎหมายจากเยอรมันก็ยอมรับว่า L. คือที่พึ่งด้านกฎหมายของพวกเขา และคืนวันหนึ่งระหว่างปั่นจักรยานกลับหอพัก L. ก็ให้ความเห็นกับผมว่า กฎหมายเครื่องหมายการค้าเป็นวิชาที่สนุกและเขาชอบ สาเหตุหลักเพราะว่า เขาไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือหนักหรืองมอยู่กับบทบัญญัติกฎหมายมากเกินไป การเรียนกฎหมายเครื่องหมายการค้า เราจะได้ดูคดีตัวอย่างและภาพของเครื่องหมายการค้าที่เกิดขึ้นจริงทั้งอันที่ถูกกฎหมายและอันที่ปลอมแปลง บางครั้งเราก็สามารถหาคำตอบได้จากการดูรูปเครื่องหมายการค้า มันสนุกตรงที่มันต้องประยุกต์ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรไปพร้อมกับประสาทสัมผัส เช่น การมอง และความคิดจินตนาการบางอย่าง มันจึงเป็นวิชาที่ค่อนข้างมีเสน่ห์สำหรับ L.

อีกคนหนึ่งที่พูดคล้าย L. คือ H. เพื่อนคนจีนของผม โดย H. ผู้มีพื้นฐานความรู้มาจากสายวิทยาศาสตร์ชีววิทยา ตัวเขาสนใจมากกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Law – IP) และเริ่มแรกคิดว่า เขาน่าจะทำได้ดีกับกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตร (Patent) หากแต่พอเรียนไปเรื่อย ๆ กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าสร้างความประทับใจและกระตุ้นความสนใจของ H. ได้มากกว่า ซึ่ง H. ให้เหตุผลคล้ายกับ L. ในประเด็นที่ว่า กฎหมายเครื่องหมายการค้านั้นสามารถใช้สามัญสำนึกและสัญชาตญาณในการหาคำตอบทางกฎหมายได้ คุณจำเป็นจะต้องดูรูปเครื่องหมายการค้าหรือสัมผัสอื่น ๆ พร้อมกับขบคิดประเด็นกฎหมายไปพร้อมกัน และแม้คุณอาจจะไม่ทราบประเด็นกฎหมาย แต่สามัญสำนึก (อาจจะโดยฐานะของผู้บริโภค) คุณก็พอจะให้คำตอบเบื้องต้นกับมันได้ ทั้งนี้ H. ยังบอกอีกว่า การเรียนกฎหมายเครื่องหมายการค้า ทำให้เขาสนุกกับการมองและใส่ใจกับห้างร้านรวมไปถึงสินค้าต่าง ๆ ซึ่งถ้าไม่เคยเรียนมาก่อน (อย่างสมัยก่อนเรียนกฎหมาย เขาแทบจะแยกความต่างไม่ออก) หรือคิดไม่ถึงว่ามันจะมีความละเอียดอ่อนที่น่าสนใจในการแข่งขันกันของโลกธุรกิจในประเด็นที่ว่าสินค้าและตราของใครครองใจผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งลวงหลอกผู้บริโภคอย่างไร

ฉันรักกฎหมายเกี่ยวกับพันธบัตร!

มาที่ C. เพื่อนของผมจากสหราชอาณาจักร C. เป็นผู้หญิงที่สนใจในกฎหมายหลักทรัพย์ ธนาคาร คล้ายกันกับผม หากแต่ C. ชื่นชอบกฎหมายเกี่ยวกับพันธบัตรและตราสารหนี้ (Treasury & Bond) มาก ๆ  เธอเคยทำงานในธนาคารวาณิชธนกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก และในอนาคตเธอก็มุ่งหมายกับการหางานทำต่อในสายกฎหมายเกี่ยวกับการเงินและหลักทรัพย์ ซึ่งถ้าจะว่าไป ผมว่าเราน่าจะเจอโอกาสน้อยมาก ๆ ที่จะได้ยินนักกฎหมายไทยพูดว่า ฉันชอบกฎหมายเกี่ยวกับตราสารหนี้ ผมคิดว่านับหัวได้เลยทีเดียว กฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์ในไทยไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของวงการกฎหมายไทยสักเท่าไหร่ ต้องคนสนใจหรือคนที่ทำงานโดยตรงเท่านั้นที่พอจะเอ่ยปากได้ว่าชอบกฎหมายเกี่ยวกับตราสารหนี้ นอกจากนี้ C. ยังชอบกฎหมายเกี่ยวกับสหภาพยุโรป (EU Law) พอสมควรด้วย เธอคิดว่ามันจำเป็นมากที่จะต้องรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายของสหภาพยุโรป ในฐานะที่ UK (สมัยที่เธอเรียนอยู่) เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป 

กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่น่าสนใจ…

ถัดมาเป็นเพื่อนสนิทของผมจากเยอรมันชื่อ Y. ซึ่งจริง ๆ แล้ว Y. เคยพูดบางอย่างที่สอดคล้องกับความคิด C. ว่า กฎหมายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปนั้นสำคัญและจำเป็นต้องรู้ นอกจากความสนใจส่วนตัวแล้ว ในเยอรมัน (ฐานะที่เป็นประเทศหัวหอกหลักของสหภาพยุโรป) การเรียนกฎหมายสหภาพยุโรปเป็นวิชาบังคับวิชาหนึ่ง และด้วยโครงสร้างของการรวมตัวกันของสหภาพ ประเด็นกฎหมายจึงยิบย่อย และการทำความเข้าใจแค่กฎหมายในประเทศย่อมไม่เพียงพอ หากแต่ความสนใจใคร่รู้ของ Y. นั้นกลับพุ่งไปที่กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล (Privacy Rights) ซึ่ง Y. ให้เหตุผลว่า สิทธิส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญในฐานะที่เป็นสิทธิพื้นฐานของชีวิต ยิ่งอยู่ในยุคที่การละเมิดหรือพรากสิทธิส่วนบุคคลทำได้ง่ายดาย เช่น การใช้สื่อและแอพพลิเคชั่นออนไลน์อย่าง Facebook Instagram หรือการที่รัฐบาลเริ่มหาทางเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมากขึ้น ยิ่งเราอยู่ในยุคของ Big Data ที่มีการผลิตและสร้างข้อมูลจำนวนมหึมา แถมยังนำไปวิเคราะห์หาอะไรได้อีกมากมาย กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลจึงสำคัญมาก กลุ่มประเทศอย่างสหภาพยุโรปที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล GDPR (General Data Protection Regulation) ก็เป็นหมุดหมายว่ายุคต่อไป ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลจะทวีความสำคัญขึ้นไปอีก

กฎหมายแข่งขันทางการค้ามีอะไรที่น่าศึกษาอีกมาก

กฎหมายแข่งกันทางการค้า (Competition Law) หรือกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust) ก็เป็นอีกหนึ่งสาขาที่เพื่อนต่างชาติผมสนใจ มิสเตอร์ Y. ก็เคยบอกว่า รองจากกฎหมายสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายแข่งขันทางการค้าก็น่าสนใจมาก ซึ่งสอดคล้องกับ S. เพื่อนนักกฎหมายหญิงของผมจากสหรัฐอเมริกา โดย S. คิดว่า กฎหมายแข่งขันทางการค้าค่อนข้างจะสำคัญต่อเศรษฐกิจในฐานะเครื่องมือปกป้องผู้บริโภค ประชาชน และขณะเดียวกันก็ควบคุม (รวมถึงส่งเสริม) ระบบเศรษฐกิจ เธอคิดว่าเมื่อกลับไปเรียนต่อ เธอสนใจที่จะเขียนงานในสาขาวิชากฎหมายแข่งขันทางการค้าตอนปีสุดท้าย

ความหลากหลายของนักกฎหมาย

นอกจากเพื่อนข้างต้นที่ผมเขียนไป เพื่อนอีกหลายคนก็ตอบคำถามนี้กันหลากหลาย บ่งบอกว่า เรามีนักเรียนกฎหมายที่กระจายความชอบไปยังสาขาวิชาต่าง ๆ ของกฎหมายระดับหนึ่ง

A. จากแคนาดาชื่นชอบกฎหมายมหาชนมาก โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเธอมีปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและโลกาภิวัตน์มาก่อนที่จะเรียนปริญญากฎหมาย (J.D.) เธอให้ความเห็นว่ามันสนุกและหลักคิดเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะการได้ขบคิดประเด็นสำคัญอย่างคดีหรือหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศทั้งในตอนนี้และผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องที่น่าสนใจและท้าทายมาก

L. เป็นเพื่อนคนจีนของผม ที่บอกว่าเขาไม่ได้มีวิชากฎหมายที่ประทับใจที่สุด แต่ตัวเขาเริ่มมีความสนใจและตัดสินใจเขียนสาระนิพนธ์จบตอนปริญญาตรีในสาขากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และแน่นอนว่า กฎหมายเครื่องหมายการค้า เพราะในประเทศจีนนั้น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ และเขาก็รู้สึกโอเคที่จะเรียนรู้และศึกษามันเชิงลึกต่อไป

ข้ามฝากมาที่ L. เพื่อนหญิงจากออสเตรเลีย ซึ่งในฐานะที่ทำงานเป็นทนายความสายฟ้องร้องคดี (Litigation) ในบริษัทให้คำปรึกษากฎหมาย (Law Firm) เธอค่อนข้างชื่นชอบกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ กฎหมายองค์กรธุรกิจ ห้างหุ้นส่วนบริษัท เป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งได้มาทำงานในสายเกี่ยวกับการสู้คดีที่เธอคิดว่ามันท้าทายด้วย เธอพึงพอใจในสายงานปัจจุบัน และตั้งใจจะทำต่อในอนาคต

พูดถึงเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจ มิสเตอร์ D. จากแคนาดาก็ชื่นชอบเช่นกัน หากแต่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นธรรมาธิบาลของบริษัท (Corporate Governance) และส่วนตัวของเขาพุ่งเป้ามาที่การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทในฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะญี่ปุ่น (เจ้าตัวพูดภาษาญี่ปุ่นได้)

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว มีคำตอบของคนไหนที่ตรงใจกับท่านผู้อ่าน หรือที่จริงผมเชื่อว่า ท่านคงเริ่มฉุกคิดล่ะว่า แล้วเราชอบกฎหมายสาขาไหนกันนะ?

 

 

Comments