กรณีศึกษา: การล้มละลายของธุรกิจแชร์จักรยาน
ในประเทศจีนจะมีธุรกิจบริการแชร์จักรยาน (Bike-Sharing business) จำนวนมาก ซึ่งเอาจริง ๆ มันเป็นอะไรที่นิยมกันมากในหมู่คนจีน ตั้งแต่เด็กประถมยันอากงอาม่า อย่างผมที่ตอนนี้เรียนอยู่เมืองจีนก็ใช้บริการธุรกิจพวกนี้บ่อยครับ โดยวิธีใช้งานก็คือ เราจะต้องสมัครบริการผ่านแอพก่อน แอพส่วนใหญ่จะบังคับให้เรายืนยันตัวตน กรณีคนต่างชาติมักจะต้องถ่ายรูปพาสปอร์ต แถมยังจะต้องถ่ายรูปที่ถือพาสปอร์ตคู่กับหน้าตัวเองยืนยันไปพร้อมกันด้วยว่าเราเป็นตัวจริงนะ หลังจากนั้น 2-3 วันเมื่อเขาอนุมัติ เราก็สามารถใช้บริการเช่าจักรยานได้ โดยอาจจะเลือกแบบจ่ายต่อครั้ง หรือซื้อบัตรแบบรายวัน รายเดือน รายปี (ซึ่งจะได้ส่วนลด) บางเจ้าเช่น Ofo อาจจะต้องโอนมัดจำเข้าไปก่อน ราว ๆ 99-199 หยวนนี่ล่ะ (ห้าร้อยถึงพันบาท)
ในตลาดธุรกิจนี้จะมีผู้ให้บริการจำนวนมาก ซึ่งจากที่นิตยสาร Economist บอกก็ร่วม 70 เจ้า ด้วยเหตุนี้สีต่าง ๆ ของจักรยานก็จะถูกแต่ละบริษัทจับจองกันไป เช่น ในปักกิ่งนั้น เจ้าดัง ๆ จะมี 3 เจ้า คือ Mobike (สีส้ม) Ofo (สีเหลือง) Bluegogo (สีน้ำเงิน) และปัจจุบันที่ผมเริ่มเห็นบ่อยขึ้นคือสีฟ้าของ Alibaba

ในภาพคือถนนแถวจงกวนซุน (中关村) ติดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นตัวอย่างภาพชินตาว่า เราสามารถพบเห็นกองจักรยานหลากสีได้ทั่วไป
OFO สีเหลืองเร่งเครื่องตลาด
ค่าย Ofo ถูกก่อตั้งโดยนักเรียนมหาวิทยาลัยปักกิ่งอายุ 27 ปีชื่อ Dan Wei (戴威) ในปี 2014 ส่วน Mobike ได้รับเงินระดมทุนก้อนใหญ่จาก Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งเมืองจีนกว่า 19,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง Mobike และ Ofo ถูกประเมินมูลค่าบริษัทไว้เกือบ 1 แสนล้านบาท
หากแต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า Ofo เผชิญความยากลำบากในวงการธุรกิจนี้ไปซะได้ บริษัทไม่สามารถจ่ายเงินแก่โรงงานผลิตจักรยานยนต์ อุปกรณ์ และบริษัทขนส่งเป็นยอดค้างจ่ายกว่าพันล้านบาทจนผู้ก่อตั้งติดแบล็คลิสต์ทางการเงิน จนสุดท้ายบริษัทก็ตัดสินใจยื่นล้มละลาย ซึ่งกระทบธุรกิจที่ขยายไปกว่ายี่สิบประเทศ
รูปแบบธุรกิจที่แท้จริงคือ “การเช่า”
ลองย้อนมาดูโมเดลธุรกิจของธุรกิจแชร์จักรยานพวกนี้กันครับ ก่อนอื่น แม้มันจะใช้คำว่าแชร์แต่รูปแบบก็ไม่ใช่ลักษณะ Uber ที่คนทั่วไปเอารถมาแชร์มาหารายได้ เพราะบริษัทจักรยานเหล่านี้เอาจักรยานของบริษัทมาวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ในเมืองให้คนใช้ คิดค่าบริการอาจจะราว ๆ 5 บาทต่อชั่วโมง พออธิบายแบบนี้ เอาเข้าจริงมันไม่ใช่การแชร์จักรยานแบบ Uber เวอร์ชั่นปั่น แต่พูดให้ถูกมันคือ ธุรกิจเช่าจักรยานแบบเร่งด่วน (dockless rented bicycles) ซะมากกว่า เพราะโดยปกติเราจะใช้สำหรับการปั่นจักรยานจากตรงนี้ไปยังจุดหมายปลายทาง หรือเพื่อนผมบางคนก็ใช้แทนการซื้อจักรยานไปเลย ข้อเสียมีแค่ในบางจุดหรือในเวลาเร่งด่วนที่คนแย่งกันใช้ก็จะต้องเดินหากันขาขวิด หรือสมมติเราใช้บริการของค่ายจักรยานสีส้มแต่ในละแวกนั้นมีแต่สีเหลือง สีฟ้า เราก็ต้องเดินตามหาในละแวกนั้นกันต่อไป
นอกจากนี้ ตามสไตล์ของธุรกิจ Start-up ยุคนี้ที่ใช้กลยุทธ์เอาใจลูกค้าก่อน ไม่เน้นทำกำไรในช่วงแรก ยอมขาดทุนและผลาญเงินทุนบริษัทเพื่อครองตลาดในระยะยาว แม้ในช่วงแรกจะประสบความสำเร็จทั้ง Ofo และ Mobike ได้กลายเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจนี้ ครองส่วนแบ่งเกือบ 90% ในปี 2017 โดยทั้งคู่มีผู้ใช้บริการต่อเดือนกว่า 40 ล้านคน ก่อนจะลดลงมาเหลือ 20 ล้านคนต่อเดือนในปัจจุบัน (หายไปครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว) นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า กรณีของ Ofo ชี้ให้เห็นสภาวะของ Start-up ในจีนที่พอมีไอเดียดี ๆ ทางธุรกิจเกิดขึ้น นักลงทุนจะเทเงินใส่ โดยบางครั้งก็ละเลยที่จะตั้งคำถามว่ารูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นมีความยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ ทำให้ Ofo กลายเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของข้อจำกัดรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัพสมัยใหม่ที่เผาเงินในช่วงแรกเพื่อครองใจลูกค้าแล้วค่อยมาหากำไรในภายหลัง เพราะท้ายที่สุดมันอาจจะไปพบทางตันว่าบริษัทไม่สามารถหารายได้เพื่อกำไรในระยะยาว
นานาสารพันปัญหา
แน่นอนว่าการเผาเงินรุนแรงเช่นนี้ ข้อมูลที่ปรากฏพบว่า Mobike เผาเงินไปราว ๆ 80 ล้านบาทต่อวัน โชคดีที่มีบริษัท Meituan (美团) ซึ่งทำธุรกิจจัดส่งอาหารเข้ามาซื้อกิจการไปจึงทำให้ Mobike ถูกต่อลมหายใจและปลดภาระชั่วคราวเรื่องเงินทุน ส่วนค่ายเหลือง Ofo นั้นเดิมมีบริษัท Xiaomi (小米), Alibaba (阿里巴巴), Didi Chuxing ( 滴滴出行) คอยสนับสนุนด้านการเงิน แต่เหล่าผู้สนับสนุนเริ่มหยุดส่งเงินและซ้ำร้ายบางรายก็เป็นคู่แข่งกับ Ofo เอง เช่น Alibaba ไปช่วย HelloBike ซึ่งมีแนวโน้มจะกลืนกินส่วนแบ่งตลาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน หรือ Didi ที่ลองไปเปิดธุรกิจแชร์จักยานดูเองบ้าง

ตัวอย่างจักรยานของค่าย 滴滴快车 ซึ่งเคยเป็นผู้ลงทุนมาก่อน และผันตัวมาทำกิจการแข่งขันซะเอง
สาเหตุอื่นที่มีผู้วิจารณ์กัน ก็คือ บางคนคิดว่า Ofo ได้เงินทุนไปเยอะ แต่ใช้เงินไม่เป็น ลงทุนหรือจ่ายไปกับอะไรที่ไม่สร้างผลตอบแทนที่ดี เช่น จ่ายค่าพรีเซ็นเตอร์และโฆษณามากเกินจำเป็น แถมผู้บริหารก็ดูจะไม่สนใจบริษัทสักเท่าไหร่ ถึงขนาดติดแบล็คลิสต์รัฐบาล ไม่สามารถพักโรงแรมหรูหรือนั่งรถไฟตั๋วแพง ๆ และถูกบังคับให้ใส่ใจกับการบริหารกิจการและการดูแลผลประโยชน์ลูกค้า
นอกจากนี้ปัญหาอย่างการถูกขโมยจักรยานและจักรยานถูกทำลาย ก็ถือเป็นปัญหาหลักที่สร้างความหนักใจแก่ธุรกิจแชร์จักรยาน ซึ่งเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมากในการรักษาและถ้าหายก็เสียเงินเสียเวลา บางรายถึงกับเจ๊งไปเลยเพราะจักรยานหายหมด อีกทั้งแต่ละเมืองก็เริ่มส่งสัญญาณว่าไม่อยากให้ถนนถูกเบียดบังด้วยกองและฝูงจักรยาน บางเมืองจึงห้ามไม่ให้โฆษณาธุรกิจเหล่านี้และไม่อนุญาตบริษัทรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจอีกด้วย
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า รูปแบบธุรกิจเช่าจักรยานนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ในเมืองจีนครับ
ปล. จำค่ามัดจำได้ไหมครับ ผมเองก็จ่ายไปให้ Ofo ซึ่งสมัยก่อนถ้าเราเลิกใช้บริการเราก็ขอคืนได้ หากแต่ตอนนี้บริษัทประสบปัญหาการเงินมาก คนก็กลัวว่าจะไม่ได้เงินคืนก็เลยแห่กันถอนเงินตรงนี้ ซึ่งปัจจุบันคิวรับเงินทะลุ 12 ล้านรายไปแล้ว ฮ่า ๆ ผมได้แต่ทำตาปริบ ๆ เลยทีเดียว