ข้อสอบกฎหมาย: วิธีการตอบและตัวอย่าง

ข้อสอบกฎหมาย

ข้อสอบกฎหมาย วิธีเขียนตอบและตัวอย่าง

Facebook: Business Analysis of Law

โดย ศรัณย์ พิมพ์งาม และคณะ

การเขียนตอบ ข้อสอบกฎหมาย เป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตของการเรียนนิติศาสตร์ เพราะคะแนนส่วนใหญ่ที่จะทำให้เราผ่านแต่ละวิชาไปได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายในหัว ผ่านการเขียนออกมาบนสมุดคำตอบ

และการเขียนตอบ ข้อสอบกฎหมาย ก็จะเป็นเรื่องปกติดังเช่นที่ประเทศไทยต้องมีฤดูร้อน ฤดูฝน เพราะเราจะเจอมันทั้งตอนเรียนปริญญาตรี ตอนเรียนเนติบัณฑิต และทั้งตอนที่ลงสนามสอบวิชาชีพทั้งผู้พิพากษาและอัยการ การเขียนตอบ ข้อสอบกฎหมาย จึงเป็นหนึ่งทักษะสำคัญที่นิสิต-นักศึกษาวิชากฎหมาย จำต้องให้ความสำคัญ

สำหรับนิสิตนักศึกษาชั้นปีแรกของคณะนิติศาสตร์ หลายคนคงตกใจกับข้อสอบเทอมแรกที่ทุกอย่างจำต้องเขียน เขียน และก็เขียน ข้อสอบคณะนิติศาสตร์เกือบทั้งหมดเป็นข้อสอบอัตนัย ไม่ค่อยจะมีข้อสอบปรนัยให้เห็นสักเท่าไหร่ (นานครั้งมาก ๆ จึงจะมีสักทีในบางวิชา) บทความนี้จะได้อธิบาย รวบรวมวิธีการ และตัวอย่างการตอบข้อสอบกฎหมายตั้งแต่ชั้นปีต้น จนไปถึงการเขียนในชั้นปีที่สูงกว่า เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนวิชากฎหมายทุกคนที่สนใจหรือกำลังมองหาวิธีการเขียนตอบข้อสอบอยู่

1. ลักษณะข้อสอบกฎหมาย

โดยปกติ การเรียนคณะนิติศาสตร์ ผู้เรียนมักจะถูกวัดผลโดยการสอบผ่านในแต่ละเทอมด้วยข้อสอบกฎหมายครั้งเดียวคือตอนปลายภาค (final) มหาวิทยาลัยที่ใช้ระบบนี้ก็เช่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยก่อนใช้การสอบ 100 คะแนน ซึ่งปกติมีข้อสอบ 5 ข้อ ข้อละ 20 คะแนน ให้เวลาสอบประมาณ 3 ชั่วโมง ถ้าจะผ่านต้องได้ 60 คะแนนขึ้นไป หรือคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งจะมีการสอบวัดความรู้ครั้งเดียวตอนปลายภาค 100 คะแนนเต็มเช่นกัน (อาจจะมีข้อสอบ 3-4 ข้อ เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง)

หากแต่บางมหาวิทยาลัยก็ใช้ระบบแบ่งคะแนนแบบกลางภาค (midterm) เช่น ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นสอบกลางภาค 40 คะแนน และปลายภาคอีก 60 คะแนน (แต่บางวิชาก็อาจจะใช้ระบบ 50-50 หรือสอบปลายภาค 100 คะแนนเต็มเลยก็มี) และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2561 เป็นต้นไปที่จะแบ่งเป็นสอบกลางภาค 20-40 คะแนน (แต่ยังคงคะแนนผ่าน 60 จาก 100 คะแนนอยู่)

โดยข้อสอบกฎหมายมักจะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ข้อสอบแบบอุทาหรณ์ กับข้อสอบบรรยาย

(๑) ข้อสอบอุทาหรณ์ 

มีชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่า ข้อสอบแบบตุ๊กตา ก็เพราะข้อสอบประเภทนี้มักจะสมมติข้อเท็จจริงบางอย่างขึ้นมา แล้วถามว่า การกระทำของตัวละครสมมติในข้อสอบนั้น หรือบางครั้งเหตุการณ์ในอุทาหรณ์นั้น ส่งผลทางกฎหมายอย่างไร? ซึ่งข้อสอบอุทาหรณ์ถือว่าเป็นข้อสอบที่เจอมากที่สุดในชีวิตการเรียนกฎหมาย (หนียังไงก็ไม่พ้น) นิสิตนักศึกษาจึงควรฝึกฝนการตอบข้อสอบประเภทนี้ให้ดี

ตัวอย่างข้อสอบอุทาหรณ์ของวิชากฎหมายอาญา เช่น นาย ก เข้าไปล่าสัตว์ในป่าในเวลากลางวัน เห็นพุ่มไม้ไหวอยู่ตรงหน้า ซึ่งจากประสบการณ์ทำให้เขาคิดว่า ลักษณะการเคลื่อนไหวแบบนี้ต้องเป็นหมูป่าแน่ ๆ จึงทำการยิงปืนเข้าไปในพุ่มไม้ หากแต่สิ่งที่เคลื่อนไหวที่ถูกนาย ก ยิงนั้น คือ นาย ข ซึ่งเข้ามาหาของป่าไปขาย และการยิงปืนของนาย ก นั้นได้ทำให้นาย ข ตายในทันที จงวินิจฉัยว่า นาย ก จะต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด (20 คะแนน)

การตอบข้อสอบประเภทนี้ เริ่มต้นเลย เราควรอ่านคำถามว่าโจทย์ข้อนี้ต้องการอะไร ซึ่งจากตัวอย่างโจทย์ต้องการให้เราวินิจฉัยว่า นาย ก จะต้องรับผิดในการกระทำ หรือไม่ และ เพราะเหตุใด ซึ่งเราจะต้องตอบคำถามให้ครบ คำถามต้องการให้เราตอบว่า (1) นาย ก ต้องรับผิด หรือไม่ต้องรับผิด และ (2) ที่ว่าต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับผิด เพราะเหตุใด เห็นไหมครับว่ามันต้องตอบ 2 อย่างคู่กัน คำตอบของเราจึงจะต้องเป็นไปในลักษณะที่ว่า นาย ก ต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าว เพราะว่า … หรือ นาย ก ไม่ต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าว เพราะว่า …

ต่อมา เราต้องอ่านคำถามทั้งหมด แล้วพยายามขีดเส้นการกระทำหรือพฤติการณ์ที่สำคัญในข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เพื่อปรับเข้ากับข้อกฎหมาย จากตัวอย่างข้างต้น สิ่งที่เราควรจะขีดเส้นใต้หรือวงกลมไว้ คือ การกระทำของนาย ก ที่ยิงปืนใส่นาย ข จนตาย + การเข้าใจว่านาย ข คือหมูป่า และอาจทำเครื่องหมายตรงคำว่า เวลากลางวัน จากนั้น จึงเริ่มเขียนตอบคำถามโดยไล่ไปตามข้อเท็จจริงและปรับเข้าข้อกฎหมาย

(๒) ข้อสอบแบบบรรยาย 

ข้อสอบประเภทนี้จะไม่มีข้อเท็จจริงอุทาหรณ์ให้อ่าน แต่จะเป็นข้อสอบคำถามปลายเปิดเพื่อวัดความเข้าใจของผู้เรียน ด้วยการให้บรรยายหลักการหรือทฤษฎีทางกฎหมายในวิชานั้นออกมา ข้อสอบประเภทนี้มักจะถามความเห็นหรือให้อรรถาธิบายอะไรบางอย่าง ทั้งนี้ มีโอกาสค่อนข้างมากพอสมควรที่เราอาจจะเจอข้อสอบเหล่านี้ในหลายวิชา จากประสบการณ์ของผม ถ้ามีข้อสอบ 2-3 ข้อ อาจจะเจอข้อสอบแบบนี้ 1 ข้อ แม้เราอาจจะแทบไม่เจอข้อสอบประเภทนี้ในการสอบเนติบัณฑิต แต่จะพบบ่อย ๆ ในการเรียนชั้นปริญญาโท

ตัวอย่างข้อสอบบรรยายวิชากฎหมายทั่วไป เช่น การอุดช่องว่างของกฎหมายคืออะไร และมีวิธีการอย่างไรบ้าง จงยกตัวอย่างประกอบด้วย (30 คะแนน) หรือข้อสอบวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรม-สัญญา อาจถามว่า นิติกรรมที่เป็นโมฆะ กับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง จงอธิบายพอสังเขป (20 คะแนน)

แนวทางการตอบข้อสอบบรรยาย สิ่งสำคัญ คือ โจทย์ถามอะไร ตอบให้ตรงคำถาม และตอบให้ครบถ้วนที่ถาม เช่น จากตัวอย่างข้างบน เราจะเขียนบรรยายตอบก่อนเลยว่า การอุดช่องว่างทางกฎหมาย คือ … และคำถามยังต้องการให้เราตอบหลังจากที่เขียนว่า การอุดช่องว่างทางกฎหมายคืออะไรแล้ว เราจะต้องบรรยายว่า วิธีการในการอุดช่องว่างทางกฎหมาย มีอะไรบ้าง หรือตัวอย่างคำถามต่อมา เราจะต้องอธิบายในเบื้องต้นก่อนว่า นิติกรรมที่เป็นโมฆะคืออะไร (1 ย่อหน้า) นิติกรรมที่เป็นโมฆียะคืออะไร (1ย่อหน้า) สิ่งที่แตกต่างกันคืออะไร และ สิ่งที่เหมือนกันคืออะไร เราถึงจะได้คะแนนครบถ้วนจากข้อนี้

ข้อสอบประเภทนี้ดูเหมือนว่าเราจะเขียนแถได้ คือ เขียนยืดไปเรื่อย แต่จะทำให้ได้คะแนนไม่ดี หรือไม่ได้คะแนนเลย ดูเหมือนว่าง่าย แต่จริง ๆ ไม่ง่ายนะครับ เพราะการจะตอบบรรยายให้ได้ดี ต้องเข้าใจเรื่องที่ตอบได้อย่างชัดเจน วางโครงสร้างในหัวได้ จึงจะเขียนได้ลื่นไหล เราจะพบว่า นักศึกษาที่ตอบไม่ได้มักจะจบปัญหานี้ด้วยการตอบว่า สิ่งที่ถาม ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าทราบ มีดังนี้ … (T _ T)


2. วิธีเขียนตอบ ข้อสอบกฎหมาย อุทาหรณ์

ผมจะแยกการตอบข้อสอบกฎหมายเป็นหลายระดับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการทำให้เห็นภาพการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย ผมได้ทำการขอให้นักกฎหมายหลายท่าน ที่ผมคิดว่าเป็นผู้ที่เก่งมาก ๆ ช่วยเขียนตอบเป็นตัวอย่างให้ด้วย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ทุกท่านในการศึกษาลักษณะการเขียนตอบจริง ๆ ว่าเป็นอย่างไรครับ

ก. แนวทางการตอบ ข้อสอบกฎหมาย แบบ IRAC

การตอบข้อสอบแบบ IRAC ((Issue, Rule, Application and Conclusion) การเขียนตอบแบบนี้จะถูกสอนในชั้นปีแรกของการเรียนคณะนิติศาสตร์ เพื่อเป็นการวางพื้นฐานการตอบข้อสอบในชั้นปีสูง ๆ ขึ้นไป และมีความสำคัญมาก เพราะ IRAC คือ รูปแบบการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายแบบอุทาหรณ์หรือข้อสอบตุ๊กตาที่ละเอียดและ ช่วยในการลำดับความคิด ซึ่งหากวางโครงสร้างตาม IRAC ครบ มันจะนำไปสู่คะแนนที่ดีได้ (ถ้าไม่ตอบแบบไม่รู้เรื่องเลย)

อธิบายก่อนว่า การเขียนตอบแบบ IRAC จะแบ่งได้เป็น 4 ส่วนตามตัวย่อของมัน ดังนี้

  • I ที่มาจากคำว่า issues คือ ประเด็นที่โจทย์ต้องการให้เราวิเคราะห์ ซึ่งอาจมีได้หลายประเด็นในคำถาม ให้เขียนไว้ตรงส่วนนี้ก่อนเลยว่า ข้อสอบข้อนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอะไรบ้าง
  • R ที่มาจากคำว่า rules คือ หลักกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อสอบข้อนี้
  • A หรือ application คือ การประยุกต์ใช้หลักกฎหมายนั้น เพื่อใช้เป็นข้อสนับสนุนคำตอบของเรา หรืออาจใช้ในการวิเคราะห์ข้อโต้แย้งบางอย่าง โดยปกติจะเป็นส่วนที่เขียนโดยปรับข้อเท็จจริงตามโจทย์เข้ากับข้อกฎหมายเพื่อหาผลทางกฎหมายจากการกระทำและเหตุการณ์ในอุทาหรณ์ของข้อสอบ
  • C มาจาก conclusion คือ ส่วนของการสรุปคำตอบของเราที่มีต่อข้อสอบข้อนี้

เพื่อให้เห็นภาพ นี่คือ ตัวอย่างของการตอบข้อสอบแบบ IRAC ครับ ตัวอย่างเขียนตอบโดยคุณ ปัณณธร เขื่อนแก้ว

โจทย์: นาย ก. ทำสัญญาเช่ากับนาย ข. โดยในสัญญาเช่านั้นมีเงื่อนไขดังนี้ เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า หากนาย ข. ไม่ยอมย้ายออก นาย ก. มีสิทธิ 1) ขนย้ายทรัพย์สินของนาย ข. ออกจากห้องแถวนั้นได้โดยไม่ต้องใช้สิทธิทางศาล 2) จับเด็กหญิง ค. ลูกสาวของนาย ข. ไปเป็นทาส ซึ่งขณะตกลงนั้น เด็กหญิง ค. ก็ได้ให้ความยินยอมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงระบุไว้ด้วยว่า 3) ในกรณีที่ผู้อยู่อาศัยได้รับบาดเจ็บจากห้องแถวที่ปล่อยเช่าไม่ว่าด้วยสาเหตุใด นาย ก. จะรับผิดในความเสียหายทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น

ผ่านไปหลายเดือนที่ นาย ข. ได้พักอาศัยห้องเช่ามาโดยตลอด แต่วันหนึ่งได้ทำการตรวจสอบสภาพห้องและพบว่าพื้นไม้ในห้องมีปลวกมาทำรังอยู่ ทำให้พื้นไม้นั้นชำรุด ซึ่งต้นเหตุนั้นเป็นเพราะ นาย ก. ได้ทำการก่อสร้างห้องแถวโดยจงใจสร้างทับรังปลวกเพื่อเสริมฮวงจุ้ย นาย ข. จึงได้ทำการแจ้งต่อนาย ก. ให้ทราบว่าอาจเกิดอันตรายได้ถ้าไม่ซ่อมแซมแก้ไข แต่นาย ก. เพิกเฉย นาย ข. เองจึงได้ทำการบำรุงรักษาอย่างเพียงพอเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยการซื้อยาฆ่าปลวกมาพ่นที่พื้นไม้และหาไม้มาตอกเสริมความแข็งแรง แต่เมื่อเด็กหญิง ค. กลับมาจากโรงเรียน ขึ้นไปพักผ่อนยังห้องพักที่ชั้น 2 พื้นนั้นก็ทรุดทำให้ร่างเด็กหญิง ค. ทะลุลงไปยังห้องแถวชั้นล่าง ขาทั้งสองข้างของเด็กหญิง ค. หัก ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท

ให้นิสิตตอบคำถามต่อไปนี้  1) หากนาย ข. มาปรึกษานิสิตเรื่องข้อตกลงในสัญญาเช่าเกี่ยวกับการบังคับการใช้สิทธิโดยไม่ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล การนำเด็กหญิง ค. ไปเป็นทาส และข้อตกลงยกเว้นความรับผิดในความเสียหาย นิสิตจะให้คำตอบเช่นไร

2) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจนทำให้เด็กหญิง ค. ขาหัก จะสามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากผู้ใดได้บ้าง

แนวทางการตอบข้อสอบแบบ IRAC

วางประเด็น

จากโจทย์มีประเด็นกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยดังต่อไปนี้

1) เงื่อนไขในสัญญาเช่านั้นมีผลบังคับได้มากน้อยเพียงใด

2) เด็กหญิง ค. ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์พื้นไม้ทะลุมีสิทธิเรียกร้องจากใคร

วางหลักกฎหมาย

จากโจทย์มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังต่อไปนี้

มาตรา 150 วางหลักไว้ว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 434 วรรคแรก วางหลักไว้ว่า “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

จากโจทย์มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ดังต่อไปนี้

มาตรา 8 วรรคแรก วางหลักไว้ว่า “ข้อตกลง ประกาศ หรือคำแจ้งความที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดหรือผิดสัญญาในความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของผู้อื่น อันเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ตกลง ผู้ประกาศ ผู้แจ้งความ หรือของบุคคลอื่นซึ่งผู้ตกลง ผู้ประกาศหรือผู้แจ้งความต้องรับผิดด้วย จะนำมาอ้างเป็นข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไม่ได้”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงประกอบกับหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สามารถวินิจฉัยประเด็นต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

1) จากข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาเช่านั้น สามารถแยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

1.1) เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง หาก นาย ข. ไม่ยอมย้ายออกจากที่เช่า นาย ก. มีสิทธิขนย้ายทรัพย์สินของนาย ข. ออกจากห้องแถวนั้นได้โดยไม่ต้องใช้สิทธิทางศาล

สัญญาเช่านั้นผูกพันทั้ง ก. และ ข. เป็นบุคคลสิทธิ การที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง ส่งผลให้เกิดหนี้ที่นาย ข. จะต้องย้ายออกจากสถานที่เช่า โดยนาย ก. มีสิทธิตามสัญญาเช่าที่จะเรียกร้องให้นาย ข. กระทำการเช่นว่านั้น หากภายหลังปรากฏว่านาย ข. ไม่ยอมทำตาม ก็คือการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเช่า ถ้านาย ก. ประสงค์จะให้นาย ข. ทำการชำระหนี้ตามสัญญา ตนก็ต้องไปใช้สิทธิทางศาล จะมาบังคับด้วยตนเองนั้นหาได้ไม่ เพราะจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยกับสังคม และยังขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ ที่มีเจตนารมณ์ให้การบังคับโดยบุคคลสิทธินั้นต้องเป็นไปตามกระบวนการศาล ดังนั้น ข้อตกลงนี้ในสัญญาเช่าจึงมีวัตถุประสงค์ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

1.2) ข้อตกลงที่ยินยอมให้จับเด็กหญิง ค. ลูกสาวของนาย ข. ไปเป็นทาส

แม้ขณะตกลงนั้น เด็กหญิง ค. ก็ได้ให้ความยินยอมในข้อตกลงนี้อยู่ด้วย หากแต่การมีข้อตกลงบังคับคนลงเป็นทาสนั้นเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา ดังนั้นข้อตกลงข้อนี้ในสัญญาเช่าจึงมีวัตถุประสงค์ที่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

1.3) นอกจากนี้ในข้อสัญญายังมีข้อตกลงที่จำกัดความรับผิดนั้นว่า “ในกรณีที่ผู้อยู่อาศัยได้รับบาดเจ็บจากห้องแถวที่ปล่อยเช่าไม่ว่าด้วยสาเหตุใด นาย ก. จะรับผิดในความเสียหายทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น”

เมื่อปรากฎว่าเป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดหรือผิดสัญญาในความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของผู้อื่น อันเกิดจากการละเมิดของผู้ตกลง จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 8 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540

2) เด็กหญิง ค. ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์พื้นไม้ทะลุมีสิทธิเรียกร้องจากใครได้บ้าง

พิจารณาได้ว่า การที่เด็กหญิง ค. ได้รับบาดเจ็บและเสียเงิน 10,000 บาท เป็นความเสียหายอันเกิดแก่ร่างกายของเด็กหญิง ค. โดยสาเหตุนั้นเกิดเพราะพื้นไม้นั้นปลูกสร้างชำรุดบกพร่อง ตามหลักแล้ว เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง นาย ข. ผู้ครองโรงเรือนจะต้องรับผิดตามมาตรา 434 วรรคแรก

อย่างไรก็ดี การที่นาย ข. ได้แจ้งต่อนาย ก. ผู้ให้เช่าถึงสภาพห้องที่อาจเกิดอันตรายควรต้องแก้ไข แต่นาย ก. ไม่เข้ามาซ่อมแซม และนาย ข. ได้ซื้อยาฆ่าปลวกมาพ่นและเสริมพื้นไม้สร้างความแข็งแรง ย่อมเป็นการใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอเพื่อปัดป้องความเสียหายที่จะเกิดแล้ว จึงเข้าข้อยกเว้นทำให้นาย ข. ผู้ครองไม่ต้องรับผิด แต่คนที่ต้องรับผิดคือ นาย ก. เจ้าของโรงเรือน ตามมาตรา 434 วรรคแรก ชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เด็กหญิง ค. เสียไป

สรุป 

จากการวินิจฉัยประเด็นต่าง ๆ สามารถสรุปคำตอบได้ดังนี้

1) หากนาย ข. มาปรึกษานิสิตเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญาเช่า นิสิตจะให้คำตอบเช่นไร

ข้อสัญญาเกี่ยวกับการยกเว้นการใช้สิทธิทางศาล เกี่ยวกับการนำเด็กหญิง ค. ไปเป็นทาส ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 และการตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากความเสียหายได้ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 8 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ด้วยเหตุนี้ นาย ก. ผู้ให้เช่าย่อมไม่สามารถยกข้อต่อสู้ใด ๆ ตามข้อตกลงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้

2) ในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจนทำให้เด็กหญิง ค. ขาหัก เด็กหญิง ค. ได้ใช้เงินของตนเองจ่ายไปทั้งสิ้น เด็กหญิง ค. สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากผู้ใดได้บ้าง

ความเสียหายต่อร่างกายอันเกิดจากพื้นไม้ทะลุเป็นความเสียหายอันเกิดจากโรงเรือนอันเกิดจากการก่อสร้างชำรุดบกพร่องโดย นาย ก. ได้ปลูกห้องแถวทับจอมปลวก ดังนี้ เมื่อปรากฏว่านาย ข. ผู้ครองได้แจ้งให้นาย ก. ผู้ให้เช่าทราบแล้ว และยังใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปัดป้องความเสียหาย เช่นนี้จึงเป็นนาย ก. เจ้าของโรงเรือนที่จะต้องรับผิดต่อเด็กหญิง ค. ในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 433 วรรคแรก

ข. วิธีตอบ ข้อสอบกฎหมาย แบบลดรูป

การตอบ ข้อสอบกฎหมาย แบบนี้จะใช้ในการเรียนชั้นปีโตขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงปี 3-4 อย่างผมก็เริ่มตอบข้อสอบโดยใช้การตอบแบบลดรูปตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ด้วยหลายเหตุผล แต่สำคัญที่สุดคือ ผมจะตอบข้อสอบไม่ทันถ้าเขียน IRAC และการตอบข้อสอบแบบนี้จะติดตัวไปในอนาคตเลยทีเดียว ซึ่งการตอบแบบลดรูป ผมคิดว่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ (ก) การตอบแบบวางหลักกฎหมายก่อนแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริง กับ (ข) การตอบแบบวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปพร้อมกับข้อกฎหมาย

(ก) การตอบแบบวางหลักกฎหมายก่อนแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริง ก็คล้าย ๆ กับ IRAC ที่เอา I ออก (หรือบางครั้งด้วยเวลาที่เหลือน้อย C ก็จะหายไปด้วย) ส่วนที่สำคัญที่ต้องเหลือไว้คือ R กับ A นึกภาพการตอบที่เริ่มต้นว่า หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีดังต่อไปนี้ แล้วก็วางหลักกฎหมายเป็นข้อ ๆ ลงไป เมื่อวางหลักกฎหมายเสร็จ ค่อยเขียนย่อหน้าใหม่ว่า พิจารณาจากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ สามารถวินิจฉัยได้ว่า … แล้วก็ขึ้นย่อหน้าใหม่ ประเด็นที่หนึ่ง ย่อหน้าใหม่ประเด็นถัดมา ซึ่งการตอบข้อสอบแบบนี้ แม้ในบางครั้งวินิจฉัยผิด แต่คะแนนในส่วนของหลักกฎหมาย เราจะยังได้คะแนนอยู่ เพราะเราได้วางหลักกฎหมายไว้บ้างแล้ว

(ข) การตอบแบบวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปพร้อมกับข้อกฎหมาย เป็นการตอบข้อสอบที่ถ้าทำได้คล่อง จะตอบข้อสอบไวมาก เพราะไม่จำเป็นต้องวางหลักกฎหมายก่อนแล้วมาเขียนทีหลังตอนวินิจฉัยอีก แต่ในทางกลับกัน ถ้าไม่แม่นข้อกฎหมาย วินิจฉัยผิด คะแนนที่ได้จะหายไปฮวบทีเดียว โครงสร้างของการตอบแบบนี้ คือ IRAC ที่ อาจจะหายไปได้ทั้ง I กับ C และทำการรวม R กับ A ไว้ด้วยกัน พูดในอีกมุมก็คือ การตอบในส่วน A เลย แต่ระหว่างวิเคราะห์วินิจฉัยข้อเท็จจริงก็แทรกและอธิบายข้อกฎหมายหรือ R ไปด้วย

เรามาดูตัวอย่างการตอบคำถามแบบลดรูปทั้ง 2 แบบนี้กันครับ

A. วางหลักกฎหมายก่อนแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริง

การตอบแบบวางหลักกฎหมายก่อน คือ การเริ่มต้นมาด้วยการเขียนหัวข้อว่า “หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” (R) และเมื่อวางหลักกฎหมายเสร็จเรียบร้อย ก็เริ่มหัวข้อ “วินิจฉัย” (A) ถ้ามีเวลา ควรจะ “สรุป” (C) ด้วย แต่ถ้าไม่ทันก็ไม่เป็นอะไรครับ ลองมาดูตัวอย่างกัน

โจทย์ปัญหา : นายสยามได้ไปออกกำลังกายกับเพื่อนที่สวนจตุจักรในวันหยุดสุดสัปดาห์ซึ่งมีคนพลุกพล่านมากมาย ด้วยความคึกคะนอง นายสยามแกล้งหยิบของเพื่อนแล้ววิ่งหนีด้วยความรวดเร็วโดยมิได้มองทาง จึงได้ชนนายชิดลมซึ่งยืนออกกำลังกายอยู่ห่างออกไป 10 เมตร ล้มลงได้รับบาดเจ็บ และโทรศัพท์มือถือหล่นตกน้ำพังเสียหาย เช่นนี้ จากการที่นิสิตได้เรียนกฎหมายละเมิดมา นายสยามจะต้องรับผิดหรือไม่ อย่างไร?

แนวทางการตอบ

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  <— บรรทัดแรกของกระดาษคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักไว้ว่า (หรือเขียนว่า กำหนดว่า)

– “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นถือว่าทำละเมิด จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

พิจารณาจากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ มีประเด็นต้องวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

การที่นายสยามวิ่งโดยคึกคะนองเพื่อแกล้งเพื่อน โดยมิได้มองทางในสวนสาธารณะ จึงไปชนนายชิดลม การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงการเคลื่อนไหว หากแต่มิได้มีลักษณะเป็นการกระทำโดยจงใจเพื่อให้นายชิดลมเสียหายจากการกระทำของตน

อย่างไรก็ดี การกระทำของนายสยามที่วิ่งไปชนนายชิดลม เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เพราะมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะใช้ในลักษณะที่บุคคลผู้มีความระมัดระวังตามสภาพแวดล้อม พฤติการณ์และลักษณะทางสภาพร่างกายเช่นเดียวกับนายสยามย่อมจะไม่กระทำ เนื่องจากในสวนจตุจักรในวันหยุดสุดสัปดาห์ตามอุทาหรณ์เป็นสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ย่อมคาดหมายได้ว่า หากวิ่งโดยมิได้ใช้ความระมัดระวัง ย่อมจะต้องเกิดการชนบุคคลอื่น ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ การกระทำของนามสยามข้างต้นจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายต่อบุคคลอื่น คือ นายชิดลม ให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย และโทรศัพท์เคลื่อนที่อันเป็นทรัพย์สินของนายชิดลม นายสยามจึงทำละเมิด และจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการกระทำดังกล่าวของตน

สรุป

ดังเหตุผลที่ได้อธิบายไปข้างต้น นายสยามจะต้องรับผิดตามกฎหมายละเมิดและจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการกระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตน

(หรืออาจสรุปแบบยาวว่า นายสยามจะต้องรับผิดตามกฎหมายละเมิด และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการกระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตนเอง อันมีลักษณะเป็นการกระทำโดยประมาท โดยผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายและทรัพย์สินของนายชิดลม)

B. วินิจฉัยข้อเท็จจริงไปพร้อมกับข้อกฎหมาย

การตอบข้อสอบในรูปแบบนี้ ผมได้รบกวนคุณ . ปพพ เพื่อนร่วมรุ่นตอนเรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยเขียนให้ (เจ้าตัวยังไม่ประสงค์ให้ออกนามครับ) ซึ่งคุณ ต. เป็นหนึ่งในคนที่ผมคิดว่าเก่งมาก ทั้งคุณ ต. ยังได้ช่วยเขียนคำแนะนำอื่น ๆ ให้ด้วย ลองอ่านได้เลยครับ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

คำแนะนำการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย (ส่วนการตอบแบบปรับบทตามประเด็น)

การตอบข้อสอบกฎหมายในข้อที่ให้วินิจฉัย “ข้อเท็จจริง” เข้ากับ “ข้อกฎหมาย” หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “ปัญหาแบบตุ๊กตา”นั้น รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมได้แก่ การตอบแบบปรับบทตามประเด็นปัญหาเนื่องจากเป็นวิธีการเขียนตอบที่กระชับและประหยัดเวลา และสามารถนำไปปรับใช้กับการเขียนตอบในทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนตอบในชั้นปริญญาตรี เนติบัณฑิต หรือแม้กระทั่งสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา หรืออัยการผู้ช่วย

โดยวิธีการเขียนตอบรูปแบบนี้ จะเป็นการนำข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในประเด็นหนึ่ง ๆ ในข้อสอบตุ๊กตาซึ่งอาจจะมีหลายประเด็น มาเขียนทีละประเด็น ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าว มีบุคคลใด กระทำการอย่างไร โดยการกระทำเหล่านั้นเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือผิดกฎหมายต่อผู้อื่นอย่างไร การกระทำเหล่านั้น ผู้นั้นสามารถอ้างได้หรือไม่ว่าตนสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

โดยการพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้ จะทำให้ทราบว่าประเด็นปัญหาตามข้อเท็จจริงนั้น ๆ ต้องด้วยบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร ก็ให้นำบทบัญญัตินั้นมาเขียนต่อเนื่องกันไปในการตอบ เพื่อให้ทราบถึงหลักการตามกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ว่ากฎหมายวางหลักว่าอย่างไร แล้วจึงนำไปสู่การปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงข้างต้นว่า การกระทำเหล่านั้นเป็นความผิดอย่างไร ฐานใด ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำได้หรือไม่ เป็นต้น

ก่อนที่จะยกตัวอย่างการเขียนตอบแบบปรับบทตามประเด็นนั้น จะขอยกข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำข้อสอบแบบตุ๊กตา เพื่อนำมาพิจารณาควบคู่กับการเขียนตอบข้อสอบ ดังต่อไปนี้

•  ในข้อสอบกฎหมายแบบตุ๊กตาแต่ละข้อนั้น จะมี “ตัวละคร” อยู่มากมาย เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ให้เราอ่านและทำความเข้าใจอย่างจดจ่อว่า ตัวละครใดเป็นตัวละครหลัก ที่โจทย์ถามและต้องการให้ตอบ กระทำต่อบุคคลใด อย่างไร หากโจทย์ถามและต้องการให้ตอบ มากกว่า 1 ตัวละคร ให้เขียนตอบแบบปรับบท ย่อหน้าละหนึ่งตัวละคร (แต่หากเป็นการร่วมกันกระทำ และข้อเท็จจริงไม่ต่างกันก็อาจเขียนไปด้วยกันทีเดียวได้)

•  “ต้องตอบในสิ่งที่โจทย์ถามให้ครบทุกประเด็น” เพราะในแต่ละประเด็นจะมีคะแนนทุกประเด็น มากน้อยต่างกัน นั่นหมายความว่า หากตอบเพียงบางประเด็น แม้ประเด็นนั้นจะเขียนได้ครบถ้วนทุกประการ เราก็จะไม่มีทางได้คะแนนจากประเด็นอื่นเลย โดยประเด็นคำถามนั้น เราจะสังเกตได้จากย่อหน้าสุดท้าย หรือบรรทัดท้าย ๆ ว่าโจทย์ถามว่าอะไร นั่นคือประเด็นที่เราต้องเขียนตอบตามประเด็นให้ครบทุกประเด็นนั้น

โดยข้อสอบมักมีลักษณะการตั้งคำถามอยู่ 2 แบบ กล่าวคือ a. เขียนคำถามมาแบบรวม ๆ ในตอนท้ายว่าสิ่งที่โจทย์ ต้องการถามมีอะไรบ้าง b. กำหนดข้อย่อยมาเป็นประเด็น ๆ เช่น (ก) (ข) (ค) ซึ่งในข้อย่อยหนึ่ง ๆ นั้นอาจจะมีหนึ่งประเด็นหรือมากกว่าหนึ่งประเด็นที่ต้องตอบก็ได้

•  ข้อสังเกตประการหนึ่งว่าจะเขียนตอบแบบปรับบทตามประเด็นอย่างไรนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับกลุ่มข้อสอบวิชากฎหมายต่าง ๆ เช่น เป็นข้อสอบวิชากฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายปกครอง กฎหมายพิเศษอื่น ๆ เป็นต้น เพราะข้อสอบวิชาต่าง ๆ มักมีคำถามท้ายข้อที่มีรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นข้อสังเกตให้เราเริ่มเขียนตอบข้อสอบได้สะดวกมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ข้อสอบวิชากฎหมายอาญา มักมีคำถามว่า “การกระทำของนาย ก. ข. ค. และ ง. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่” ซึ่งเราต้องปรับบทตามประเด็นเป็นรายบุคคลที่โจทย์ถาม ถ้าการกระทำของคนใดมีมากกว่า 1 ประเด็นก็ให้ตอบปรับบทตามประเด็นให้ครบ จากนั้นจึงปรับบทบุคคลต่อไปที่โจทย์ถาม และตอบเฉพาะบุคคลที่โจทย์ถามเท่านั้น หรือ “ศาลไทยมีอำนาจลงโทษ นาย ก. และนาย ข. หรือไม่” หรือ “การกระทำความผิดของนาย ก. เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หรือ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน”

•  การนำหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาปรับบทกับข้อเท็จจริงนั้น ให้เขียนไปได้เลยว่า กฎหมายใด มาตราใด (ควรเขียนเลขมาตราหากจำได้) วางหลักการไว้อย่างไร โดยในการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงนั้น ต้องใช้ “ภาษากฎหมาย” ห้ามเขียนภาษาพูด หรือภาษาทั่วไป โดยคำเหล่านี้จะเป็น “Keywords” ในการให้คะแนนตามประเด็นเลยทีเดียว

•  ในการเขียนตอบนั้น เมื่อจะสรุปคำตอบในประเด็นนั้น ๆ จะต้องตอบ “แบบฟันธง” คือตอบให้เด็ดขาด ไม่ตอบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือทำให้เข้าใจได้หลายแนวทาง

•  ในการนำข้อเท็จจริงจากโจทย์มาเขียนในแต่ละประเด็นเพื่อปรับกับบทกฎหมายเพื่อตอบนั้น ไม่ควรที่จะลอกข้อเท็จจริงจากโจทก์มาทุกอย่าง แต่ควรที่จะเลือกข้อเท็จจริงที่สำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนั้น ๆ เท่านั้นมาเขียน เพื่อให้การเขียนตอบมีความกระชับและทำให้เห็นว่าการเขียนตอบนี้เกิดจากการวิเคราะห์ปัญหามาแล้ว

ตัวอย่างการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายแบบปรับบทตามประเด็น

โจทย์ปัญหา : นายหนึ่งและนายสองมีที่ดินคนละแปลงซึ่งอยู่ติดกันนายหนึ่งเอาเสารั้วไม้ของนายหนึ่งปักในที่ดินของนายหนึ่งนายสองเข้าใจว่านายหนึ่งเอาเสารั้วไม้ของนายหนึ่งไปปักในที่ดินของนายสองนายสองไม่พอใจจึงถอนเสารั้วไม้นั้นออกจนเสารั้วไม้หักต่อมาวันหนึ่งนายสองเอารั้วไม้ของนายสองปักในที่ดินของนายสองนายหนึ่งรีบร้อนไม่ตรวจตราดูให้ดีจึงเข้าใจว่าเป็นเสารั้วไม้ของนายหนึ่งที่สั่งให้ลูกจ้างไปปักไว้ในที่ดินของนายหนึ่งนายหนึ่งเห็นว่าเป็นเสารั้วไม้เก่ามีสภาพไม่แข็งแรงจึงถอนทิ้งจนเสารั้วไม้นั้นหักให้วินิจฉัยว่านายสองและนายหนึ่งมีความผิดฐานใดหรือไม่ (ข้อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตภาคหนึ่งสมัยที่ 67 ปีการศึกษา 2557 ข้อ 3)

วิเคราะห์ : จากปัญหาตุ๊กตาข้างต้นวิชากฎหมายอาญา ข้อนี้คำถามที่โจทย์ต้องการให้ตอบมี 2 ประเด็น คือ 1. นายสอง มีความผิดฐานใดหรือไม่ และ 2. นายหนึ่ง มีความผิดฐานใด หรือไม่ เมื่อจะทำการเขียนตอบข้อสอบให้เขียนตอบปรับบทตามประเด็นไปตามตัวละครที่โจทย์ถาม ในการตอบแต่ละประเด็นให้เรียงการตอบ โดยเขียนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก่อน แล้วจึงปรับบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ากับประเด็นข้อเท็จจริงนั้นว่า มีหลักการตามกฎหมายอย่างไร และผลเป็นอย่างไร จะมีความผิดหรือไม่ ตามกฎหมายใด มาตราใด หากประเด็นนั้นมีประเด็นย่อยที่เกี่ยวข้องอีกก็ให้ปรับข้อเท็จจริงและบทกฎหมายอย่างนี้ต่อไป

แนวทางการตอบแบบปรับบทตามประเด็น

การที่นายสองทำการถอนเสารั้วไม้ของนายหนึ่งจนหัก เป็นการที่นายสองกระทำโดยเจตนาถอนรั้วไม้อันเป็นทรัพย์ของนายหนึ่งจนหักเสียหาย อันเป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 แต่การกระทำดังกล่าวของนายสอง เป็นการกระทำโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิกระทำได้ตามกฎหมาย เพราะตนสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า นายหนึ่งนำเสารั้วไม้มาปักในที่ดินของตน นายสองจึงใช้อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ เพื่อที่จะขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และใช้สิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปได้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่นายสองสำคัญผิดแล้วนั้น การกระทำของนายสองย่อมไม่เป็นความผิด ดังนั้นนายสองจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของนายหนึ่ง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 62 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และมาตรา 1337 และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงของนายสองนั้นเป็นไปโดยประมาทแต่อย่างใด นายสองจึงไม่มีความผิดจากการกระทำโดยประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคสอง

การที่นายหนึ่งถอนเสารั้วไม้ที่นายสองนำมาปักไว้ในที่ดินของนายสอง โดยนายหนึ่งเข้าใจว่าเสารั้วไม้นั้นคือเสาของตน ที่ได้สั่งให้ลูกจ้างไปปักไว้ในที่ดินของตนนั้น เป็นกรณีที่นายหนึ่งกระทำโดยไม่รู้ว่า เสารั้วไม้นั้นเป็นเสาของนายสอง แต่กระทำโดยเข้าใจว่าเป็นเสารั้วไม้ของตนเอง จึงได้ทำการถอนจนเสารั้วไม้นั้นหัก เป็นการที่นายหนึ่งกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น จะถือว่านายหนึ่งกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำมิได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสาม นายหนึ่งจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358

แม้การที่นายหนึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เกิดขึ้นเพราะนายหนึ่งรีบร้อนไม่ตรวจตราให้ดีว่าเสารั้วไม้นั้นเป็นของใคร อันเป็นการกระทำโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ แต่นายหนึ่งไม่ต้องรับผิดจากการประมาทตามที่มาตรา 62 วรรคสองได้บัญญัติไว้ เพราะการทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด

อนึ่ง การตอบข้อสอบในรูปแบบนี้ ผมยังได้ขอให้คุณ ส. วิบูลย์ เพื่อนร่วมรุ่นอีกท่าน (ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาแล้ว) ช่วยเขียนให้ (เจ้าตัวเป็นคนที่ผมชื่นชมว่าเก่งมาก ๆ ในบรรดาเพื่อนร่วมคณะ ทำคะแนนได้สูงทั้งในชั้นปริญญาตรีและสอบเนติบัณฑิตได้ในลำดับ 2 ของรุ่นด้วย) และนี่เป็นตัวอย่างการตอบข้อสอบวิชากฎหมายค้ำประกันครับ

โจทย์ปัญหา : เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 นาย ก ทำสัญญากู้ยืมเงินกับนายขเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาทมีกำหนดชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยมีนาย ค ตกลงค้ำประกันด้วยวาจาเต็มจำนวนโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หนึ่งสัปดาห์หลังจากทำสัญญากู้ นาย ค ส่งจดหมายไปหานาย ข เจ้าหนี้เงินกู้ว่าการกู้เงินสัปดาห์ก่อนผมยืนยันว่าจะค้ำประกันนาย ก ให้ โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ถ้านาย ก ไม่จ่าย มาเรียกได้ที่ผมเลยพร้อมลงลายมือชื่อของนาย ค กำกับไว้ เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามสัญญากู้ปรากฏว่า นาย กได้หลบหนีไม่ชำระหนี้ และไม่สามารถสืบพบตัวได้ในประเทศไทย ในวันรุ่งขึ้นนาย ข จึงมีหนังสือถึงนาย ค ให้ชำระหนี้แทนนาย ก แต่นาย ค ปฏิเสธอ้างว่าไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันเป็นหนังสือในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่จำเป็นต้องชำระหนี้แทน ให้นักศึกษาตอบคำถามดังต่อไปนี้ (1) ข้ออ้างของนาย ค ฟังขึ้นหรือไม่? และ (2) นาย ค สามารถเกี่ยงให้นาย ข ไปเรียกชำระหนี้จากนาย ก ก่อนได้หรือไม่?

แนวทางการตอบข้อสอบ

(ก) การที่นาย ค ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าค้ำประกันในหนี้ที่นาย ก กู้ยืมเงินจากนาย ข นั้น ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในวันทำสัญญากู้ระหว่างนาย ก และนาย ข นั้น นาย ค เพียงแต่ตกลงค้ำประกันด้วยวาจาก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากทำสัญญากู้หนึ่งสัปดาห์ นาย คได้ส่งจดหมายไปหานาย ข โดยมีข้อความว่า “การกู้เงินสัปดาห์ก่อน ผมยืนยันว่าจะค้ำประกันนาย ก ให้ โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ถ้านาย ก ไม่จ่าย มาเรียกได้ที่ผมเลย” พร้อมลงลายมือชื่อนาย ค กำกับไว้ กรณีดังกล่าวถือว่ามีหลักฐานการค้ำประกันเป็นหนังสือที่สามารถฟ้องบังคับนาย ค ได้แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสอง เนื่องจากหลักฐานเป็นหนังสืออาจเกิดมีขึ้นในขณะทำสัญญาค้ำประกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ เพียงแต่จะต้องมีก่อนการฟ้องคดีเท่านั้น ประกอบกับข้อความในจดหมายซึ่งนาย ค ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อนั้นก็เพียงพอที่ทำให้เข้าใจได้ว่านาย ค ผูกพันตนเข้าค้ำประกันในหนี้เงินกู้ที่นาย ก มีต่อนาย ข

เมื่อนาย ขได้มีหนังสือถึงนาย ค ให้ชำระหนี้แทนนาย ก ภายในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่นาย ก ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งเป็นกรณีที่นาย ข เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคหนึ่ง นาย ค จึงต้องชำระหนี้ให้แก่นาย ข ข้อต่อสู้ของนาย ค ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

(ข) แม้ข้อความในจดหมายที่นาย ค ส่งถึงนาย ข จะมีข้อความระบุว่า นาย ค ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมอันจะมีผลไม่ให้ผู้ค้ำประกันใช้สิทธิเกี่ยงให้เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 นั้น สามารถทำได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681/1 วรรคสอง เมื่อนาย ค ผู้ค้ำประกันมิใช่นิติบุคคล ข้อตกลงที่กำหนดให้นาย ค ต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคหนึ่ง อันถือเสมือนว่ามิได้มีข้อตกลงดังกล่าวในการค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นาย ก ได้หลบหนีไม่ชำระหนี้และไม่สามารถสืบพบตัวได้ในประเทศไทย จึงเป็นกรณีที่ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในราชอาณาเขตซึ่งเมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมไม่อาจที่จะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 นาย ค จึงไม่อาจใช้สิทธิเกี่ยงให้นาย ข ไปเรียกชำระหนี้เอาจากนาย ก ผู้กู้ก่อนได้

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการตอบข้อสอบ ที่ได้รับเกียรติจาก คุณพีรพงศ์ จงไพศาลสกุล ผู้สอบได้เนติบัณฑิตลำดับที่ 14 ของรุ่น 67 และกำลังศึกษาในชั้นปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ในปัจจุบัน

โจทย์ปัญหา : บิดานายโชคกับนายสุขเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ต่อมาบุคคลทั้งสองแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง โดยบิดานายโชคได้ที่ดินแปลงคงโฉนดเลขที่ 100 ซึ่งติดกับทางสาธารณะ ส่วนนายสุขได้ที่ดินแปลงที่แบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 110 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายสุขใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 100 เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมาเมื่อบิดานายโชคจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ให้นายโชค นายสุขได้ตกลงกับนายโชคด้วยปากเปล่าว่าจะไม่ใช้ทางพิพาทอีกต่อไป นายโชคจึงปิดทางพิพาท โดยนายสุขไปใช้ที่ดินของนายบุญซึ่งอยู่ติดกันเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะแทนได้ 8 ปี นายบุญไม่ยอมให้ใช้ทาง นายสุขกลับมาใช้ทางพิพาท แต่นายโชคไม่ยอมอ้างว่า ประการแรก นายสุขใช้ที่ดินนายบุญเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นเวลานาน สิทธิเรียกร้องของนายสุขที่จะเอาทางเดินผ่านที่ดินนายโชคจึงหมดไปแล้ว นายสุขชอบที่จะเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินนายบุญเท่านั้น ประการที่สอง นายสุขตกลงไม่ใช้ทางพิพาทแล้ว ต้องบังคับตามที่ตกลงกันดังกล่าว และประการที่สาม นายโชครับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 มาภายหลังการแบ่งแยก จึงไม่มีหน้าที่ให้นายสุขใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะ

ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของนายโชคฟังขึ้นหรือไม่ และนายสุขมีสิทธิกลับมาใช้ทางพิพาทหรือไม่ (ข้อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตภาคหนึ่งสมัยที่ 67 ปีการศึกษา 2557 วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อ 1)

แนวทางการตอบข้อสอบ

กรณีตามปัญหาข้างต้นระหว่างนายสุขและนายโชคนั้น อาจแยกพิจารณาออกเป็น 3 ประการ ดังต่อไปนี้

ปัญหาประการแรก คือ นายสุขมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินจากที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ของนายโชค เพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้หรือไม่

สำหรับปัญหาดังกล่าวนี้ การที่บิดานายโชคกับนายสุขซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ตกลงแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง เป็นเหตุให้ที่ดินแปลงที่แบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 110 ของนายสุข ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เช่นนี้นายสุขย่อมถือเป็นเจ้าของที่ดินที่มีสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” กล่าวคือ นายสุขย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินออกไปสู่ทางสาธารณะบนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ของนายโชคซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกจากกันได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน ซึ่งสิทธิดังกล่าวตามมาตรา 1350 นั้น หาได้มีบทบัญญัติใดในกฎหมายบัญญัติถึงการสิ้นสิทธิเรียกร้องเช่นนั้นไว้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้นายสุขจะไปใช้ที่ดินของนายบุญซึ่งอยู่ติดกันเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะแทนเป็นเวลา 8 ปี ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องของนายสุขที่จะเอาทางเดินบนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ของนายโชคหมดไปแต่อย่างใด ทั้งนี้ นายสุขคงมีสิทธิเรียกร้องที่จะเอาทางเดินได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกกันเท่านั้นตามบทบัญญัติมาตรา 1350 นายสุขจึงหามีสิทธิเรียกร้องที่เอาทางเดินผ่านที่ดินของนายบุญไม่ ข้ออ้างประการแรกของนายโชคซึ่งกล่าวว่านายสุขที่จะเอาทางเดินผ่านที่ดินของนายโชคหมดไปแล้ว และนายสุขชอบที่จะเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินนายบุญเท่านั้นจึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาประการที่สองคือ ข้อตกลงไม่ใช้ทางพิพาทระหว่างนายโชคกับนายสุขด้วยปากเปล่านั้น มีผลใช้บังคับทางกฎหมายได้หรือไม่ เพียงใด

สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 ของนายสุขที่จะเอาทางเดินจากที่ดินออกไปสู่ทางสาธารณะบนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ของนายโชค เนื่องจากการแบ่งแยกที่ดินออกจากกันเป็นเหตุให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 110 ของนายสุขไม่มีทางออกไปสู่สาธารณะนั้น ถือเป็นข้อจำกัดสิทธิของนายโชคเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อันได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ตามที่กฎหมายไว้ การจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงซึ่งข้อจำกัดสิทธิดังกล่าวนั้นจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1338 ซึ่งวางหลักไว้ว่า “ข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้นั้น ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงโดยนิติกรรมไม่ได้ นอกจากจะได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่” ดังนั้น การที่นายโชคกับนายสุขตกลงกันว่าจะไม่ใช้ทางพิพาทอีกต่อไป ย่อมถือเป็นการถอนข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ประการหนึ่ง ข้อตกลงดังกล่าวจึงจะใช้บังคับไม่ได้นอกจากจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การตกลงดังกล่าวระหว่างนายโชคกับนายสุขนั้นเป็นการตกลงด้วยปากเปล่า การตกลงเช่นว่านี้จึงหาใช้บังคับได้แต่อย่างใดไม่ ข้ออ้างประการที่สองของนายโชคว่านายสุขตกลงไม่ใช้ทางพิพาทแล้ว ต้องบังคับตามที่ตกลงกันดังกล่าว จึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาประการที่สามคือ นายโชคซึ่งรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 มาภายหลังการแบ่งแยก มีหน้าที่ให้นายสุขใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่

สิทธิเรียกร้องเอาทางเดินเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย ซึ่งมิได้มีกฎหมายกำหนดให้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้สิ้นไปหากได้มีการโอนที่ดินที่แบ่งแยกจากกันแก่บุคคลอื่น ดังนั้น แม้นายโชคจะเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 มาจากบิดาภายหลังการแบ่งแยกที่ดินแล้ว ก็หาทำให้สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 1350 ของนายสุขสิ้นไปแต่อย่างใดไม่ นายโชคจึงไม่อาจปฏิเสธมิให้นายสุขใช้ทางเดินบนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ของตนออกสู่ทางสาธารณะได้ ข้ออ้างประการที่สามของนายโชคว่านายโชครับโอนที่ดินมาภายหลังการแบ่งแยก จึงไม่มีหน้าที่ให้นายสุขใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะ จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของนายโชคทั้งสามประการจึงฟังไม่ขึ้น และนายสุขย่อมมีสิทธิกลับมาใช้ทางพิพาทได้ตามกฎหมาย

C. ข้อสังเกตการตอบข้อสอบกฎหมายแบบลดรูป

จะเห็นได้ว่าการตอบข้อสอบแบบลดรูปก็คล้ายกับการตอบข้อสอบแบบ IRAC ที่ปรับปรุงให้เขียนตอบได้ไวขึ้น หรือกระชับขึ้น และสามารถ ตอบคำถามของโจทย์ได้อย่างถูกต้องชัดเจน ครบถ้วนในสาระสำคัญ ถ้าหากผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะพบว่า มันมีรูปแบบการเขียนที่ไม่ต่างกันในกรณีเขียนแบบลดรูป หากแต่สิ่งที่อาจจะต่างไปบ้าง คือ ลักษณะของการใช้ภาษาเขียน ที่จะต้องอาศัยการฝึกฝน ผมคิดว่า ผู้อ่านอาจจะมีคำถามบางอย่าง จึงขออนุญาตตอบคำถามล่วงหน้าในประเด็นที่นึกได้ไว้ หากมีคำถามอื่นใด สามารถแสดงความคิดเห็นด้านล่างเพิ่มเติมได้ครับ

•  เรื่องของเลขมาตรา

การตอบข้อสอบกฎหมายไม่จำเป็นต้องใส่เลขมาตรานะครับ ถ้าไม่แม่นยำเลขมาตรา การหลีกเลี่ยงการใส่ลงในคำตอบจะช่วยลดการถูกหักคะแนนได้ และขออ้างอิงประสบการณ์สอบเนติบัณฑิต มีข้อที่ผมได้คะแนนเต็ม 10 คะแนน (เพียงข้อเดียวในชีวิต Y_Y) ข้อนั้นผมก็ไม่ได้ใส่เลขมาตราแต่อย่างใด แล้วเราจะเขียนยังไงถ้าไม่ใส่เลข เราอาจจะเขียนแทนไว้ว่า เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่า/วางหลักไว้ว่า/มีหลักกฎหมายว่า/กำหนดหลักกฎหมายว่า …

อย่างไรก็ดี การใส่เลขจะให้ข้อดี (ในกรณีที่เราจำเลขได้ถูกต้อง) คือ ประหยัดเวลาในการเขียนอธิบายและตอบ เช่น สมมติเราวางเขียนบรรยายในช่วงต้นว่า มาตรา 1299 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “(ถ้อยคำในตัวบทที่จะต้องตรงเป๊ะ)…” (ถ้าจำตัวบทไม่ได้ตรงเป๊ะ ๆ ให้ใช้พวกคำว่า กำหนดว่า/วางหลักว่า แทน) ในการเขียนช่วงหลัง เราอาจจะเขียนไปเลยว่า การกระทำดังกล่าวย่อมเป็น …. ตามมาตรา 1299 ก็จะลดเวลาในการมานั่งเขียนอธิบายหลักกฎหมายยืดยาวอีกรอบครับ

•  ภาษาในการเขียน

อย่างที่คุณ ต. เพื่อนผมได้ให้ข้อสังเกตและแนะนำว่า เราควรจะต้องใช้ภาษากฎหมายในการตอบ ซึ่งตัวอย่างภาษากฎหมาย อาจเรียนรู้จากถ้อยคำในคำพิพากษาศาลฎีกา หรือ จากตำรากฎหมาย คำพวกนี้อาจจะไม่ค่อยได้ใช้ในภาษาพูด อาทิ มิได้ ชอบที่จะ โดยชอบ กระทำมิได้ตามกฎหมาย ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ที่ดินพิพาท ฯลฯ และควรระมัดระวังการใช้คำ ไม่ควรใช้คำภาษาพูด และต้องระวังด้วยนะครับว่า คำศัพท์บางอย่างเป็นคำศัพท์กฎหมาย ถ้าใช้ผิด ก็จะผิดไปเลย เช่น คำว่า หนังสือ/หลักฐานเป็นหนังสือ รวมไปถึงระวังการสะกดผิด คำที่มักเขียนกันผิด ได้แก่ กรรมสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ

•  ไม่จำเป็นต้องอ้างคำพิพากษาศาลฎีกา หรือใส่เลขฎีกา การตอบด้วยการอธิบายหลักกฎหมายและวินิจฉัยให้ถูกต้องก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เอาจริง ๆ ในข้อสอบอุทาหรณ์ที่ผมทำมาตลอด จนถึงวันที่เขียนบทความยังไม่เคยยกคำพิพากษาศาลฎีกามาอ้างประกอบสักครั้ง เว้นแต่ในข้อสอบให้ทำการวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาตามโจทย์ (ซึ่งมักจะเป็นข้อสอบบรรยาย) หากแต่ถ้าใครต้องการอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ ก็น่าจะทำได้ไม่ต้องห้าม แต่ควรจะต้องจำเลขฎีกาให้ถูกต้อง และจะต้องจำข้อเท็จจริงได้ถูกต้องด้วยเช่นกัน

•  เวลาตอบข้อสอบ อย่างหนึ่งที่ช่วยลำดับความคิดของเรา คือ การย่อหน้า เพราะ ในหนึ่งย่อหน้าควรเขียนแค่ประเด็นเดียว แล้วขึ้นย่อหน้าใหม่ประเด็นใหม่ ก็จะช่วยทั้งตัวผู้เขียนเองในการลำดับความคิด และช่วยคนอ่านในการมองเห็นประเด็นที่เรียบเรียงและให้คะแนนได้ง่ายขึ้นด้วยครับ

•  อีกอย่าง คือ ควรระวังเรื่องเวลาในการตอบข้อสอบ ผมยกประสบการณ์ตัวเองตอนปี 1 ข้อสอบมี 2 ข้อ เวลาทำตอนนั้นน่าจะ 2 ชั่วโมง ผมมัวแต่สนใจข้อแรกเลยเขียนไปเรื่อย ๆ เงยหน้ามาอีกที ผมเหลือเวลาทำข้อ 2 เพียงแค่ 15 นาที ซึ่งแน่นอนว่าเขียนไม่ทัน ทำให้คะแนนรวมวิชานี้ของผมต่ำมาก

ผมขอให้ขีดเส้นใต้เลยว่า การตอบข้อสอบกฎหมาย สิ่งที่สำคัญมาก คือ ตอบให้ทัน และ ทำทุกข้อ โอกาสที่คุณจะได้คะแนนและผ่านวิชานี้ไปได้ จะสูงกว่าการที่ทำได้ดีบางข้อและเว้นบางข้อไว้ เพราะการเว้น = 0 คะแนน แต่การตอบให้ทัน แม้จะตอบไปผิด ก็ยังมีโอกาสที่จะได้คะแนนบ้าง ทวนอีกครั้ง

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตอบให้ทัน ทำทุกข้อ และอย่าเว้นไว้ 

ทั้งนี้ ผมได้ไปเจอ การให้คำแนะนำของคุณศิริวัฒน์สิงห์คำนอกที่เนติบัณฑิตยสภา ซึ่งคุณศิริวัฒน์สอบได้อันดับที่ 1 ของเนติบัณฑิตรุ่น 70 ด้วยคะแนนเกียรตินิยม ถือว่าเป็นคนที่ 5 ตั้งแต่มีการสอบเนติมาทั้งเจ็ดสิบรุ่น และเป็นคนแรกจากทางฝั่งคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเอกชน โดยคุณศิริวัฒน์จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งผมขอชื่นชมคุณศิริวัฒน์ สิงห์คำนอกไว้ตรงนี้ครับว่าเยี่ยมยอดมาก

โดยผมได้ทำการถอดความจากที่คุณศิริวัฒน์ได้พูดไว้ที่เนติบัณฑิตยสภา ลักษณะการตอบข้อสอบของคุณศิริวัฒน์มีลักษณะเป็นแบบลดรูปนั่นเองครับ ลองศึกษาได้ตามนี้ ผมถอดเทปมาให้ ซึ่งต้องขอบคุณคำแนะนำที่ดีมากไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

“… การเขียนตอบข้อสอบจะแบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง เป็นการอธิบายตัวบทแบบย่อ คือ การอธิบายความหมายของตัวบทในประเด็นที่เราใช้จะตอบคำถาม เช่น “การกระทำของนายแดงเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์หรือไม่นั้น เห็นว่า ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์นั้นคือการลักทรัพย์โดยมีกิริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ซึ่งเจ้าของทรัพย์ได้เห็นหรือรู้สึกได้ถึงการกระทำของผู้กระทำความผิด ในระยะที่เจ้าของทรัพย์สามารถปกป้องทรัพย์ของตนไว้ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก เช่นนี้ การที่ … (ทำการปรับข้อเท็จจริง)

หากมาตราไหนที่ไม่ต้องอธิบายความหมายตัวบท ก็จะอธิบายตัวบทก่อนแล้วค่อยปรับข้อเท็จจริง เช่น ความผิดฐานชิงทรัพย์ คือ การลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 339 เช่นนี้ การที่ …. (ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย)

ส่วนที่ 2 และ 3 คือ การปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายในส่วนแรกที่อธิบายไป เป็นการนำข้อเท็จจริงในคำถามมาตอบเข้ากับข้อกฎหมายนั้น แล้วสรุปจบ (การเขียนแบบนี้จะใช้เวลานานกว่าแบบอื่น ไม่สามารถตอบได้ทุกข้อ)

บางข้อจึงต้องตอบแบบปรับข้อเท็จจริงพร้อมไปกับข้อกฎหมายเลยแล้วสรุป แบบนี้จะเร็วกว่า

ตัวอย่างแบบที่ 1 อันเป็นการเขียนตอบแบบ 3 ส่วน เช่น “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของนายแสบเป็นความผิดหรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดว่า บุคคลจะต้องรับผิดต่อเมื่อได้กระทำผิดซึ่งกฎหมายในขณะนั้นได้บัญญัติว่าเป็นความผิด และจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา เว้นแต่ได้กระทำโดยประมาท ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า การกระทำโดยประมาทเป็นความผิด ตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 2 และมาตรา 59 วรรคแรก เช่นนี้ การที่นายแสบวิ่งหนีนายดำเข้าไปในซอย โดยไม่ดูตาม้าตาเรือชนรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ล้มเป็นเหตุให้ไฟหน้ารถแตก นายแสบหาได้มีเจตนาประสงค์ต่อผล และไม่อาจเล็งเห็นผลได้ว่า การที่ตนวิ่งไปนั้นอาจจะชนรถยนต์ของผู้อื่นได้ จึงมิใช่กรณีที่นายแสบกระทำไปโดยมีเจตนา

แต่การที่นายแสบวิ่งโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่ดูให้ดีว่ามีรถของผู้อื่นจอดอยู่หรือไม่ ซึ่งหากดูให้ดีก็จะพบว่ามีรถของผู้อื่นจอดอยู่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะนายแสบจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งนายแสบก็อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรค 4

แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายแสบจะได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย นายแสบก็หาได้มีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ไม่ เนื่องจากความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นไม่มีการกระทำความผิดโดยประมาท

ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าในขณะที่นายแสบกระทำการดังกล่าวนั้นมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด การกระทำของนายแสบจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคแรก”

____________

ส่วนการตอบแบบที่ 2 คือ การตอบแบบปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย โดยที่ไม่อธิบายตัวบท ตัวอย่างเช่น “ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยอย่างไรนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ ราคา 2 แสนบาท จำเลยบุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท การที่จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงมิใช่กรณีที่จำเลยกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ กรณีจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ประเภทคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้อง ซึ่งจะต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงอัตราค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องว่ามีออัตราเกินกว่า 4000 บาทหรือไม่เป็นสำคัญ

ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินที่พิพาทมิได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือจำเลยอุทธรณ์คัดค้านอัตราค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องในอัตราเดือนละ 1000 บาท ซึ่งไม่เกิน 4000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรค 2

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาตินั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นการอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือรับรองว่ามีเหตุสมควรอุทธรณ์ได้ หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้มีอำนาจให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ศาลชั้นต้นจึงต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรค 2″


3. แนวทางการตอบข้อสอบแบบ บรรยาย

ดังที่ได้อธิบายไปและทวนอีกครั้ง แนวทางการตอบ ข้อสอบกฎหมาย แบบบรรยาย สิ่งสำคัญ คือ โจทย์ถามอะไร ตอบให้ตรงคำถาม และตอบให้ครบถ้วนทั้งหมดที่โจทย์ถาม เราลองมาดูตัวอย่างการตอบในแต่ละวิชากันครับ

ก. วิชากฎหมายมหาชน

ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างการตอบโดย อาจารย์ณัฐดนัย นาจันทร์ อาจารย์ประจำสํานักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยข้อความสีแดง คือ ส่วนอธิบายย่อหน้านั้น ๆ ครับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ลักษณะการตอบข้อสอบแบบบรรยายมักจะมีโครงสร้างการตอบ เริ่มต้นที่ย่อหน้าแรกเป็น ความนำ (introduction) เพื่อเกริ่นปูทางไปสู่การอธิบายคำตอบ จึงไม่ต้องยาวมาก ตามมาด้วย การอธิบาย ซึ่งจะเป็นส่วนหลักที่อธิบายความคิด ทฤษฎี หรือข้ออ้างที่เราจะใช้ถกเถียงประกอบการตอบของเราครับ อาจมีหลายย่อหน้าได้ และส่วนของ การวิเคราะห์และตอบคำถาม ซึ่งอาจารย์ณัฐดนัยได้รวมไว้เป็นส่วนเดียวกัน ขอบคุณอาจารย์ณัฐดนัย สำหรับตัวอย่างไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

คำถาม “หากกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนต้นไม้รัฐธรรมนูญก็คงเปรียบเสมือนกิ่งก้านของต้นไม้นั้น” จงอธิบายความหมายของข้อความดังกล่าวมาโดยสังเขป 

(ความนำ) คำว่ารัฐธรรมนูญนั้น เป็นคำที่มักจะพบเจอได้บ่อยครั้งโดยเฉพาะเมื่อมีการพูดถึงการแบ่งประเภทของกฎหมายมหาชนออกเป็นสาขาแยกย่อยต่าง ๆ โดยรัฐธรรมนูญถือเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายมหาชน เช่นเดียวกับกฎหมายปกครองและกฎหมายว่าด้วยการคลังและภาษีอากร

(อธิบายความหมายของถ้อยคำหลักในคำถาม) จากข้อความตามโจทย์ข้างต้นนั้น สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนคือคำว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” นั้น ในทางกฎหมายมหาชนแล้วหมายถึงสิ่งใดกันแน่ โดยในที่นี้ เราสามารถอธิบายความหมายของคำว่ารัฐธรรมนูญได้ว่า

“กฎหมายรัฐธรรมนูญ” นั้น คือคำที่ใช้เรียกแทน “กลุ่ม” หรือ “บรรดา” กฎหมายทั้งหลายที่มีหน้าที่ในการกำหนดหรือวางแนวทางในการปกครองรัฐ โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้อาจประกอบขึ้นด้วยกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบของจารีตประเพณีในการปกครองก็ได้ และโดยการให้ความหมายเช่นนี้เอง เราอาจเปรียบเทียบได้ว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” เปรียบเสมือนลำต้นของต้นไม้ใหญ่ ที่อุ้มชูหรือเป็นที่รวมของบรรดากิ่งไม้และใบไม้ทั้งหลาย อันได้แก่บรรดาบทกฎหมายที่วางรากฐานในการปกครองประเทศเอาไว้

ส่วน “รัฐธรรมนูญ” ในที่นี้หมายถึง “กฎหมาย” สูงสุดภายในรัฐ ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ โดยรัฐธรรมนูญนั้นคือกฎหมายที่กำหนดแนวทางในการเข้าสู่อำนาจ ใช้อำนาจ และส่งต่ออำนาจรัฐ โดยรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของรัฐนั้นอาจปรากฎอยู่ในรูปแบบของกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือกฎหมายจารีตประเพณีก็ได้

(วิเคราะห์และตอบคำถาม) จากคำอธิบายข้างต้น เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในบรรดากฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหลาย โดยลักษณะเช่นนี้ทำให้เราสามารอธิบายได้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเสมือนลำต้นของต้นไม้ใหญ่ และรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนกิ่งก้านของต้นไม้ดังกล่าว ร่วมกันกับบรรดากฎหมายอื่น ๆ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน เป็นต้น ทั้งนี้ ลักษณะคำเปรียบเปรยเช่นว่านี้ยังอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างหลากหลาย เช่น หากเปรียบกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นดังตะกร้าผลไม้ รัฐธรรมนูญก็คงเป็นเหมือนหนึ่งในผลไม้ที่อยู่ในตะกร้านั้นก็คงมิผิดนัก

ข. วิชากฎหมายแพ่ง

คำถาม “จงอธิบายและยกตัวอย่างกรณีของการกระทำอันเดียวกันเป็นทั้งการผิดสัญญาและละเมิด” (10 คะแนน)

แนวทางการตอบข้อสอบ : โจทย์ต้องการให้อธิบายการกระทำที่เป็นทั้งผิดสัญญาและละเมิด และจะต้องยกตัวอย่างประกอบด้วย ข้อสอบข้อนี้วัดความเข้าใจว่า ผู้ตอบเข้าใจทฤษฎีและหลักการเกี่ยวกับสัญญาและละเมิดหรือไม่ เป็นการถามหาข้อยกเว้น เพราะโดยปกติ การผิดสัญญาจะไม่เป็นละเมิด

ตอบ การกระทำบางอย่างสามารถเป็นได้ทั้งการกระทำที่ผิดสัญญาและละเมิดในขณะเดียวกัน (concurrent liability) แม้ว่าโดยปกติแล้วความรับผิดทางสัญญาและละเมิดจะแยกออกจากกันก็ตาม เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว การไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด เป็นเพียงการผิดสัญญาเท่านั้น หากแต่พฤติการณ์บางอย่างทำให้การกระทำอันเดียวกันส่งผลทั้งในด้านผิดสัญญาที่มีอยู่ระหว่างคู่สัญญา และเป็นการกระทำละเมิดต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไปพร้อมกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีที่การกระทำนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเด็ดขาด (absolute rights) ของคู่สัญญาหรือของผู้อื่น คือ เป็นการทำให้เกิดผลเสียหายแก่สิทธิบางอย่างที่มีลักษณะเป็นสิทธิเด็ดขาด ได้แก่ สิทธิในร่างกาย ชีวิต หรือทรัพย์สิน เป็นต้น

โดยตัวอย่างของ การกระทำอันเดียวกันที่เป็นได้ทั้งผิดสัญญาละเมิด เช่น กรณีของสัญญาเช่า ที่หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือได้มีการเลิกสัญญาแล้ว แต่ผู้เช่าไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืน และยังคงครอบครองทรัพย์ที่เช่าอยู่ต่อมา ย่อมเป็นทั้งการผิดสัญญาและละเมิดต่อผู้ให้เช่า เพราะจะเห็นได้ว่า การกระทำอันเดียวกันนี้เป็นกระทำที่ผิดสัญญา ไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนตามสัญญาเช่า และเป็นการทำละเมิดสิทธิเด็ดขาด คือ ทำความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า หรือตัวอย่างที่สอง เช่น กรณีของสัญญายืมใช้คงรูป การยืมทรัพย์สินของผู้ให้ยืมมาใช้ แต่ทำให้ทรัพย์ที่ยืมมานั้นเสียหาย โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ย่อมเป็นการทำละเมิด และเกิดการผิดสัญญาในขณะเดียวกันด้วย เพราะในด้านสัญญายืมใช้คงรูป ผู้ยืมมีหน้าที่ตามกฎหมายว่าจะต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืมไป (มาตรา 644 ) เป็นต้น

คำถาม “การตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 และการตีความสัญญาตามมาตรา 368 เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบาย” (20 คะแนน)

แนวทางการตอบข้อสอบ : โจทย์ต้องการให้อธิบายการตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 และการตีความสัญญาตามมาตรา 368 เราต้องอธิบายทั้งคู่ก่อนคร่าว ๆ แล้วต้องอธิบายในลักษณะที่ว่า 2 มาตรานี้ มีหลักการหรือหลักเกณฑ์ที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ตอบ การตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 เป็นหลักการตีความการแสดงเจตนาที่เป็นบทบัญญัติทั่วไปใช้สำหรับการตีความการแสดงเจตนาทุกอย่าง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กำหนดว่า “ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร” ส่วนการตีความสัญญาตามมาตรา 368 ซึ่งวางหลักไว้ว่า “สัญญานั้นให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย” เป็นมาตราที่กำหนดหลักเกณฑ์ตีความการแสดงเจตนาในกรณีที่การแสดงเจตนานั้นเป็นการแสดงเจตนาในสัญญา

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เหมือนกันคือ ในการตีความการแสดงเจตนากรณีของการแสดงเจตนาทำสัญญาหรือในการทำสัญญานั้น จะต้องนำหลักเกณฑ์ของมาตรา 171 มาใช้ในการตีความ เช่นเดียวกับการตีความการแสดงเจตนาทั่วไป เพราะการแสดงเจตนาทำสัญญาย่อมเป็นการแสดงเจตนาอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ การตีความการแสดงเจตนากรณีขอองสัญญาจะต้องมีการตีความโดยถือเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร คือ ต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงของการแสดงเจตนาทำสัญญานั้น

หากแต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการตีความตามมาตรา 171 และ 368 มีอยู่ 2 ประการใหญ่ คือ ประการแรก การตีความการแสดงเจตนาในสัญญา ด้วยผลของมาตรา 368 ทำให้มีหลักการตีความเพิ่มเติมขึ้นมา คือ ต้องคำนึงถึงความประสงค์ในทางสุจริตประกอบกับประเพณีด้วย จะถือแต่เพียงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาเพียงฝ่ายเดียวมิได้ ต้องตีความโดยถือหลักความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายในเจตนาร่วมกัน ที่เป็นการตีความไปตามความประสงค์โดยสุจริต อันคู่กรณีพึงคาดหมายได้จากกันและกัน และหากมีกรณีประเพณีปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่อย่างไร ก็ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าคู่กรณีย่อมทำสัญญากันโดยยึดหลักถือประเพณีดังกล่าวนั้นด้วย เช่น สัญญาเช่าอาคารตามประเพณีและคำนึงถึงความประสงค์โดยสุจริตของคู่สัญญา ย่อมต้องหมายถึง การเช่าทั้งอาคารอันรวมถึงดาดฟ้าข้างบน มิได้หมายถึงการเช่าเฉพาะภายในตัวอาคาร ผู้เช่าย่อมมีหน้าที่ต้องทำการดูแลรักษาอาคารดาดฟ้า และจะนำไปให้ผู้อื่นเช่าโฆษณาโดยมิได้รับความยินยอมหรือมีข้อตกลงอนุญาตจากผู้ให้เช่ามิได้

ส่วนความแตกต่างประการที่สอง คือ หลักในการตีความสัญญาตามมาตรา 368 ที่ให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย จะไม่นำไปใช้กับการตีความการแสดงเจตนาในกรณีที่มิใช่สัญญา เช่น ในการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว กรณีของพินัยกรรม หรือการบอกล้างโมฆียะกรรม จะต้องตีความตามมาตรา 171 เท่านั้น คือ ตีความการแสดงเจตนานั้นโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แต่ไม่ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีแต่อย่างใด


4. บทสรุปวิธีการตอบ ข้อสอบกฎหมาย

การเขียนตอบ ข้อสอบกฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญที่นิสิตและนักศึกษาวิชานิติศาสตร์ควรฝึกฝนและพัฒนาให้เก่งขึ้น ควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจเนื้อหาของวิชาที่เรียน เพราะแม้จะสามารถตอบคำถามของข้อสอบได้ แต่ไม่สามารถเขียนอธิบายความคิดดังกล่าวออกมาอย่างถูกต้อง คะแนนที่จะได้รับย่อมลดน้อยลงมา และเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายได้ เพราะตราบใดที่ยังเรียนคณะนิติศาสตร์ ดูเหมือนว่า การอ่านหนังสืออย่างไม่จบสิ้น และการต้องเจอข้อสอบแล้วเขียนตอบก็จะอยู่คู่กับเราไปตลอด

ในช่วงเริ่มแรกนั้น การเขียนตอบข้อสอบกฎหมายอาจจะดูยาก ยกตัวอย่างเช่นผมเอง เข้ามาเรียนปีแรก ๆ ผมก็ยังจับทางในการเขียนไม่ค่อยจะได้ แต่เมื่ออ่านเยอะขึ้น เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ มันก็ดีขึ้น แต่ถ้ามีไกด์ไลน์เริ่มต้นช่วยแต่แรก ก็น่าจะเป็นเรื่องดีกว่า จึงเป็นความตั้งใจที่นำมาสู่บทความนี้นั่นเองครับ

หวังว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ และผมขอยกความดีทั้งหมดให้เพื่อนทุกคนที่ร่วมด้วยช่วยกันเขียนแนวทางเป็นตัวอย่างให้ ขอบคุณมากครับ

ปล. มีหนังสือหลายเล่มที่สามารถใช้ศึกษาแนวทางการเขียนตอบ ข้อสอบกฎหมาย ได้ดี เช่น

(1) หยุด แสงอุทัย. การศึกษาวิชากฎหมายพร้อมด้วยคำถามและคำเฉลยข้อสอบ ชั้นปริญญาตรีนิติศาสตร์ฯ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: ประกายพรึก, 2537.

(2) มุนินทร์ พงศาปาน. แนวทางการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษากฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2560.

(3) ฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. นิติทักษะ: นิติมูลบท: เอกสารประกอบการสอนโครงการนิติทักษะ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต. พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานคร: ฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556.

ท่านใดมีคำถามสามารถทิ้งไว้ใต้บทความนี้ได้เลยครับ หรือที่เพจทาง Facebook: Business Analysis of Law ก็ได้ครับผม

2 thoughts on “ข้อสอบกฎหมาย: วิธีการตอบและตัวอย่าง

  1. มีประโยชน์มากๆ ขอขอบคุณมากๆเลยครับ….JJ

Comments