โดย ศรัณย์ พิมพ์งาม
และ ปัณณธร เขื่อนแก้ว
อ่านบทความฉบับเต็ม [View Full PDF]
การแปลงหนี้ใหม่ (novation) เป็นเหตุที่ทำให้หนี้ระงับสิ้นไปวิธีหนึ่ง โดยเกิดจากการทำสัญญาตกลงกันเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และมีเจตนาที่จะระงับหนี้เดิมมาผูกพันกันตามหนี้ใหม่ หรืออาจอธิบายได้ว่า การแปลงหนี้ใหม่เป็นการก่อหนี้ใหม่ขึ้นโดยอาศัยหนี้เดิม ถ้าหนี้เดิมไม่มีอยู่หนี้ใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน และถ้าหนี้ใหม่ไม่เกิดขึ้น หนี้เดิมก็ไม่ระงับลง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น นาย ก และนาย ข ทำสัญญาซื้อขายกัน โดยนาย ข เป็นผู้ซื้อ แต่นาย ข หาเงินมาจ่ายราคาของไม่ได้ ทั้งคู่จึงตกลงทำการแปลงหนี้ใหม่ โดยตกลงแปลงหนี้จากสัญญาซื้อขายไปเป็นสัญญากู้ยืมเงินแทน ผลทางกฎหมายคือหนี้เดิมได้แก่หนี้ตามสัญญาซื้อขายเป็นอันระงับ แล้วทั้งคู่มาผูกพันกันตามหนี้ใหม่คือหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน
ด้วยเหตุนี้ การแปลงหนี้ใหม่มิได้ทำให้เจ้าหนี้และลูกหนี้สิ้นความผูกพันกันกันไปอย่างเด็ดขาด เพราะลูกหนี้ยังคงมีความผูกพันกันตามหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่อีก เว้นแต่จะเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ลูกหนี้เดิมจึงจะหลุดพ้นจากภาระแห่งหนี้ไป แล้วลูกหนี้คนใหม่เข้ามาผูกพันตามหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นแทน
บทคัดย่อ
บทบัญญัติมาตรา 349 วรรค 3 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้การแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จะต้องนำบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องมาใช้บังคับ ความเห็นทางวิชาการในเรื่องนี้แตกต่างกันออกไปว่ามาตราใดบ้างในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องที่จะนำมาใช้บังคับ และประกันแห่งหนี้จะระงับไปด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า การแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จะต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดตามมาตรา 303-308 มาใช้บังคับ ซึ่งส่งผลต่อไปว่า แม้การแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จะทำให้หนี้เดิมระงับ เกิดเป็นหนี้ใหม่ แต่ประกันแห่งหนี้จะไม่ระงับตามหนี้เดิมไปด้วย
คำสำคัญ : แปลงหนี้ใหม่, โอนสิทธิเรียกร้อง, เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้
Abstract
According to the section 349 paragraph 3 of the Thailand Civil and Commercial Code, A novation by a change of the creditor is governed by the provisions of the Thailand Civil and Commercial Code concerning Transfer of Claims. Academic opinions differ as to whether the number of such sections should be applied, and a right of pledge or mortgage given as security should be discharged. However, the authors state our opinion that a novation by a change of the creditor is governed by all of the provisions of the Thailand Civil and Commercial Code concerning Transfer of Claims, the sections 303 to 308. Also, although the original obligation is extinguished, a right of pledge or mortgage given as security is not discharged.
Keywords: Novation, Transfer of Claims