วิธีพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ

การอ่านภาษาอังกฤษได้คล่องและสามารถทำความเข้าใจซึ่งเนื้อหาใจความที่ตัวบทความหรืองานเขียนนั้นต้องการจะบอก เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในชีวิต โดยเฉพาะการหาความรู้เพิ่มเติมหรือการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ภาษาไทยไม่สามารถไปถึงได้ การเข้าถึงสื่อภาษาอังกฤษได้นั้น บ่อยครั้งเป็นการเปิดโลกของเราอย่างมาก

อ่านข่าวและบทความภาษาอังกฤษให้เป็นนิสัย

ผมคิดว่าเริ่มต้นเลย อยากแนะนำให้เริ่มจากพวกบทความที่ไม่เฉพาะทางจนเกินไป คือ อ่านข่าวหรือบทความภาษาอังกฤษทั่วไปก่อน เพราะคำศัพท์และเนื้อหาในข่าวมักเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน คำเหล่านี้วนเวียนไปมา

เมื่อเราเริ่ม “คุ้นชิน” กับคำศัพท์ในข่าว การอ่านงานเขียนอื่นจะไม่ค่อยยากแล้วครับ เพราะส่วนตัวคือรู้สึกว่า คำในภาษาอังกฤษที่ใช้บ่อย ๆ มันจะวนไปวนมา พอเราเริ่มหาความหมายของมัน แล้วก็เจอมันบ่อย ๆ มันก็ย้ำ ๆ ในหัวจนไม่ลืมไปเอง (แม้บางคำอาจต้องเปิดดิกซ้ำเกิน 5 รอบก็ตาม ฮ่า ๆ)

ขั้นแรกเลย คือ เราต้องหาแหล่งติดตามก่อน สมัยก่อนผมไล่กดติดตาม see first สำนักข่าวและนิตยสารหัวดังไว้ใน facebook ทำให้มันขึ้นหน้า newsfeed ของเรา ถ้าผมอ่านไม่ได้ในขณะนั้นก็จะกด save later ไว้เซฟอ่านทีหลัง ถ้าใครไม่รู้จะเริ่มจากแหล่งไหน ผมแนะนำ The National Geographic ซึ่งมักจะเป็นบทความเชิงธรรมชาติ มีคลิปสัตว์ให้ดู

เราอาจจะอ่านค่ายหนังสือพิมพ์อย่าง The Guardian กับ The Independent ซึ่งเป็นสำนักข่าวของอังกฤษทั้งคู่ อันแรกชอบทำบทความเชิงลึกที่ดีมากในหลายเรื่อง อันหลังเป็นสำนักข่าวหัวก้าวหน้าและมีข่าวต่างประเทศให้อ่านบ่อย ๆ ไม่ยาวจนเกินไปด้วย กับเพจ The USA Today ซึ่งจะมีข่าวทั่วไปของอเมริกา ข้อดีนอกจากการฝึกภาษา คือ การอ่านข่าวพวกนี้คุณจะเปิดโลกกว้างและทันโลกทันเหตุการณ์

ขั้นสองต่อมาคือ เวลาอ่าน หลังจากลองมาหลายแบบ วิธีที่ผมชอบคือ การอ่านแบบกวาดให้จบก่อนเร็ว ๆ แล้วกลับมาอ่านอีกรอบอย่างตั้งใจ รอบนี้ผมจะอ่านทีละย่อหน้า คำไหนไม่เข้าใจผมจะเปิด ESL Dictionary คือดิกแบบอังกฤษ-อังกฤษ เช่น Longman Contemporary หรือ Oxford Advaced Learner’s ดูความหมายทันที แล้วเราลองวนอ่านย่อหน้านั้นใหม่ ทำแบบนี้จนจบทั้งบทความ อาจจะใช้เวลามาก

ผมก็พบว่า การอ่านแบบเน้นคุณภาพแบบนี้ ไม่เน้นปริมาณ คือ วันหนึ่งเราอาจจะอ่านอย่างตั้งใจได้วันละ 1-3 บทความ แต่ความเข้าใจคำศัพท์มันสะสมไวมาก (สำหรับผมนะ) เวลาเปิดดิกอย่าเปิดเฉย ๆ ดูความหมาย กดฟังคำอ่าน ฝึกอ่านออกเสียง ดูตัวอย่างประโยค สังเกตธรรมชาติของคำ Collocations คือทำอะไรให้มากกว่าการเปิดหาความหมายเฉย ๆ ดิก Eng-Eng คือเพื่อนที่ดีมากในการเรียนภาษาอังกฤษ ผมขอพูดเป็นรอบที่ 8,888

ขั้นสามคือ บางข่าวเราจะเข้าใจเรื่องราวและไม่ค่อยมีปัญหากับคำศัพท์ เราต้องก้าวขั้นต่อไปคือ ศึกษาวิธีการเขียน พัฒนาทักษะ Writing! ซึ่งตรงนี้สำหรับผมคือ การเรียนรู้ไวยากรณ์ (grammar) บางอย่างผมก็สังเกตจนจับจุดได้จนเวลาเราเขียนบ้างมันก็อัตโนมัติเอง

ตอนเราเปิด Dict แบบ Eng-Eng เราควรจะสนใจกับตัวอย่างประโยคที่เขาให้มา โดยเฉพาะดิกอย่าง Longman Contemporary จะบอกเราว่า คำพวกนี้ต้องเขียนอย่างไร เช่น

request (v.) ดิกจะบอกว่าเรา request somebody to do something ก็คือเราจะใช้คำว่า request ในประโยคแบบว่า เราไปขอร้องใครสักคนให้ทำอะไรบางอย่าง เช่น They request you to send e-mail to me. อะไรแบบนี้ครับ

ทักษะการเขียนที่เป็นของแถม

ผลลัพธ์ทางอ้อมของการทำแบบนี้ คือ มันจะช่วยในการพัฒนาทักษะด้านการเขียน (writing) โดยเฉพาะการศึกษา “ไอเดีย” ในหัวข้อข่าวหรือบทความนั้น ๆ ว่าจะเขียนเป็นอังกฤษยังไง เครื่องมือของผมคือ สมัยก่อนจะมีสมุดไว้จด แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้ Google sheet แทน เริ่มจากผมสร้างแผ่นงานขึ้นมา แล้วแบ่งหัวข้อเรื่องไว้ เช่น Education, Environment, Sport etc. ด้านหนึ่งเป็นการ copy + paste ไอเดียของข่าวและประโยคที่น่าสนใจแล้วไฮไลต์ไว้

ผมจะสนุกกับการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะประโยคที่มีการยกตัวอย่างซึ่งผมเรียกตาม Simon ว่า Lists of 3 เช่น ผมเจอการเขียนของ The Economist ว่า

The Lofoten islands are vital to fish, corals, seabirds, seals and whales.

คือเวลาเราจะเขียนเรื่องพวกนี้ว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมชายทะเลช่วยอะไรบ้าง มันก็จะมาเป็นชุดว่า ช่วยรักษาปลา ปะการัง นกแมวน้ำ ปลาวาฬ อะไรแบบนี้ สำหรับผมว่าจำแบบนี้มันสนุกดี และขั้นสุดท้ายถ้าว่างคือ ลองเขียนแล้วพูดตาม (ถ้ามีเวลา) ก็จะช่วยให้เราจำย้ำลงสมองอีกขั้นครับ

ภาษาอังกฤษต้องใช้เวลาในการฝึกฝน

พอเวลาผ่านไปเริ่มรู้สึกว่า ภาษาอังกฤษมันต้องอาศัยเวลาเร่งไม่ได้ มันเกิดจากการเรียนรู้ทบต้นไปเรื่อย การฝึกฝนอดทนเป็นปัจจัยสำคัญา โดยเฉพาะช่วงที่แบบเริ่มต้นใหม่ ๆ ความไม่รู้เรื่อง ฟังไม่ออก อ่านแล้วติดขัด มันจะมีความรู้สึกเสมอว่าแบบขี้เกียจจัง เหนื่อยจัง แล้วก็จะมีช่วงที่แบบ เฮ้ย เราทุ่มไปเยอะแล้วนะ ทำไมไม่มีการพัฒนาเลย มันเหมือนคลื่นนิ่งสงบราบเรียบ

หากแต่วันนึงผ่านไป เราก็จะพบว่าเราพอจะอ่านภาษาอังกฤษได้รู้เรื่องอย่างประหลาดใจ แล้วก็พบว่าบางบทความเราไม่ต้องแตะหรือเปิดดิกเลย ไปมาก็เหมือนทุกเรื่อง การจะพัฒนาอะไรสักอย่างที่มันส่งผลในอนาคต สู้กับใจตัวเองนี่ยากที่สุดล่ะครับ

Comments