Uber รวม Grab: ดีลควบรวมกิจการ 2561

grab-uber

เมื่อ Uber กับ Grab รวมร่าง!

โดย ศรัณย์ พิมพ์งาม
และ ปัณณธร เขื่อนแก้ว

ธุรกิจบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (Ride-hailing  or Ride-Sharing service) เป็นธุรกิจที่หลายปีมานี้กำลังเติบโตอย่างมาก เป็นหนึ่งในธุรกิจเกิดใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (disruptive innovation) ของตลาดรถยนต์โดยสารจำพวก taxi เดิม แต่กลยุทธ์ส่วนใหญ่ที่บริษัทเหล่านี้ไม่ว่าจะ Uber, Grab, Lyft, Didi Chuxing ใช้วิธีการเร่งขยายตลาดด้วยการเผาเงินทุนทิ้งไปกับการให้บริการ การโฆษณา ฯลฯ เพื่อครองตลาดให้ไวที่สุด อันเป็นโมเดลธุรกิจแบบสมัยใหม่ของ Silicon Valley ที่บริษัทในตำนานหลายเจ้า เช่น Amazon เคยใช้ในสนามธุรกิจค้าปลีกออนไลน์มาก่อน

ภายหลังจากเจรจาต่อรองกันมาสักพัก Uber ได้ขายกิจการในภูมิภาคอาเซียนให้กับคู่แข่งอย่าง Grab โดยดีลนี้ Uber จะขายทั้งกิจการเรียกรถโดยสารและ Uber Eats บริการส่งอาหารพ่วงไปด้วย แลกกับการที่ Uber จะถือหุ้นในกิจการ Grab 27.5% และผู้บริหารจาก Uber ก็จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการใน Grab ด้วย

ภายใต้เบื้องหลังของดีลนี้คาดว่าน่าจะเกิดจาก Softbank (ที่พึ่งลงทุนเป็นเงินเกือบ $9,300 ล้านใน Uber ไปไม่นาน ทำให้มีสัดส่วนถือหุ้นอูเบอร์ประมาณ 15%) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทั้ง Uber และ Grab ที่ต้องการจะหยุดขาดทุน และให้แต่ละบริษัทหันกลับไปโฟกัสตลาดหลักของตน เช่น Uber ควรจะทุ่มเททรัพยากรไปกับตลาดอเมริกาเหนือ ยุโรป ละตินอเมริกา ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น

การขายกิจการของ Uber ในตลาดที่แข่งขันไม่ได้นี้ คล้ายกับตอนปี 2016 ที่ Uber ขายกิจการในจีนให้กับ Didi Chuxing หลังทำธุรกิจสู้ไม่ไหวในตลาดแดนมังกร ซึ่ง Didi Chuxing ก็เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างคู่แข่ง 2 บริษัทเดิมในจีน เพื่อมาต่อกรกับ Uber โดยการขายกิจการรอบนั้น Uber แลกกับการถือหุ้น 20% ในบริษัท Didi Chuxing (ทั้งนี้ Softbank ก็ถือหุ้น Didi Chuxing เจ้าตลาดในจีนด้วย)

ทั้งนี้ กลยุทธ์ขายกิจการในประเทศหรือภูมิภาคที่ Uber แข่งขันไม่ได้ หรือไม่คุ้มกับการทุ่มทุมทำตลาด ยังรวมไปถึงดีลของ Uber ที่ขายกิจการในรัสเซียให้กับ Yandex แลกกับการถือหุ้น 37% ด้วย

หากดูทางฝ่าย Grab (ยอดดาวน์โหลดแอพอยู่ที่ 88 ล้านครั้ง) มีมูลค่าตลาดประเมินที่ $6,000 ล้าน ซึ่งมีความห่างจากมูลค่าประเมินของ Uber ที่ใหญ่กว่า 10 เท่า ($70,000 ล้าน) อาจจัดว่าเป็นดีลแบบ ปลาเล็กกินปลาใหญ่ โดยนักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า ต้องให้เครดิตแก่ Grab เพราะเขาพยายามทำความเข้าใจและปรับธุรกิจไปกับความเป็นท้องถิ่น ในขณะที่ Uber ไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยนไปตามท้องถิ่น เน้นในการทำซ้ำรูปแบบธุรกิจตัวเองในที่ใหม่ ๆ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีเท่า Grab

อย่างไรก็ดี ดีลธุรกิจครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งคู่เสียมากกว่า ทาง Grab ก็ได้ครองตลาดภูมิภาคนี้ไป ส่วน Uber ได้เงินทุนก้อนใหญ่เพิ่ม ได้หันกลับไปลุยตลาดหลักของตนเต็มที่ และยังได้ถือหุ้นใน Grab อีก หาก Grab มีผลประกอบการดี Uber ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย ผ่านสัดส่วนหุ้นที่ถือ ซึ่งหากคิดจากมูลค่าเดิมของ Grab ก่อนรวมกิจการที่ $6,000 ล้าน สัดส่วน 27.5% ก็คือมูลค่าเงินถึง $1,650 ล้าน

และหากปรับมูลค่าภายหลังจากรวมกิจการ มูลค่าประเมินของหุ้นที่ Uber ถือ Grab ย่อมสูงขึ้นไปอีก เทียบกับเงินลงทุนในกิจการ Uber ของภูมิภาคนี้ที่ใช้ไปก่อนหน้า $700 ล้าน แต่ปัจจุบันได้ถือหุ้นใน Grab กว่าพันล้านเหรียญแทน ก็ต้องนับว่าดีลนี้เป็นดีลที่ดีของ Uber อย่างมากครับ (FT คาดว่าดีลนี้คิดเป็นเงินของ Uber มูลค่าประมาณ $2,000 ล้าน เพราะการรวมกิจการครั้งนี้ทำให้มูลค่าของ Grab ขยับไปสู่ $7,000 ล้าน)

นอกจากนี้ การขายกิจการรอบนี้ยังมีวัตถุประสงค์ในเรื่องของการเร่งกำไรของ Uber ซึ่งหาทางชดเชยเงินทุนที่เสียไปประมาณ $10,000 ล้าน ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเก้าปีที่แล้ว และที่สำคัญคือการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นปีหน้า (2019) นั่นเองครับ นอกจากนี้จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร ดูท่าว่า ตลาดที่น่าสนใจของบริษัทต่อไป น่าจะเป็นประเทศอินเดีย ที่ผู้บริหารมองว่าจะสามารถเติบโตสูงในอนาคต


ผลกระทบต่อประเทศไทย

ดีลขายกิจการครั้งนี้ได้สร้างความกังวลต่อการผูกขาดธุรกิจรถยนต์ร่วมโดยสาร เพราะจากเดิมที่ในตลาดมีการแข่งขันกันระหว่าง Uber กับ Grab ก็จะเหลือเพียง Grab เจ้าเดียว โดยผลการศึกษาวิจัยจาก TDRI พบว่า ประมาณ 15-20% ของผู้โดยสารใช้บริการแอพเรียกรถพวกนี้เป็นประจำ ซึ่งตลาดรถโดยสารอย่าง Taxi นี้มีมูลค่าประเมินที่ประมาณ 43,000 ล้านบาท (รายได้เฉลี่ยต่อวัน 1,600 บาท จากจำนวนผู้ให้บริการประมาณ 60,000-70,000 คัน) เทียบกับมูลค่าตลาดของบริการ Ride-Hailing ที่ 6,000-7,000 ล้านบาทแล้ว ก็ยังห่างมาก แต่สมัยก่อนมูลค่าตลาดนี้ขับเคี่ยวแย่งชิงระหว่าง Uber กับ Grab แต่ตอนนี้ก็จะตกเป็นของ Grab เกือบเจ้าเดียว นอกจากนี้ Grab ยังมีการขยายกิจการไปยังธุรกิจบริการอื่น เช่น การบริการทางการเงิน Grabpay Service ที่ให้บริการทางการเงินเกี่ยวกับการจ่ายสินค้าและบริการ และยังอาจขยายไปถึงการให้บริการประกันภัยและสินเชื่อขนาดเล็ก (micro-loans)

ไม่เพียงแต่ไทย ในที่ตั้งสำนักงานของ Grab อย่างสิงคโปร์ ก็มีความสงสัยเกิดขึ้นทั้งทางฝั่งผู้โดยสารที่กลัวจะได้รับผลกระทบ หากการรวมกิจการครั้งนี้นำไปสู่ราคาที่สูงขึ้น ทางฝ่ายคนขับก็กำลังสงสัยกับผลตอบแทนที่ตนจะได้ และการปฏิบัติต่อคนขับของ Grab สำหรับอดีตคนที่ขับรถให้ Uber มาก่อน

หากมองในมุมของการแข่งขันทางการค้า การรวมกิจการไม่ได้หมายความว่าจะเกิดผลเสียเสมอไป แม้ในทางทฤษฎี การที่มีผู้เล่นในตลาดหายไป ย่อมทำให้ตัวเลือกของผู้บริโภคลดลง มีผู้เล่นในตลาดน้อยลง ในทางหนึ่งก็อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดและเพิ่มราคาสินค้าและบริการอย่างไม่เป็นธรรม แต่ในมุมกลับ การที่มีคู่แข่งน้อย ตัวบริษัทสามารถประหยัดเงินทุนที่จะใช้ในการแข่งขัน แล้วนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริหารให้ดีขึ้นได้ หรือนำเงินไปบริหารงานด้านอื่นให้มีประสิทธิภาพ บริษัทใหญ่อาจจะยังไม่ก่อปัญหา ถ้าไม่ใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuse of a dominant position) ในการขัดขวางการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการนั้น
__________________

References:

Uber exits south-east Asia with sale to rival Grab
Uber Is Giving Up on Southeast Asia
Grab-Uber deal sparks fears of price hike
Grab gets Uber onboard, eyeing Chinese competition
Southeast Asia exit deal is a win, not a defeat, for Uber
Merger of Grab and Uber drive monopoly, pricing concerns
Uber Pulls Out of Southeast Asia, Selling Operation to Rival Grab
Grab Close to Deal for Uber’s Southeast Asia Business
Uber said to reach agreement on South-east Asian sale to rival Grab

Comments