มาตรา 1337 – เครื่องมือในการบำบัดความเดือดร้อนสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์
บทความโดย ศรัณย์ พิมพ์งาม
มาตรา 1337 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิบางอย่างแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ นั่นก็คือ เรื่องของการทำละเมิดให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อน เช่น เราเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน แล้ววันหนึ่งดันมีใครสักคนมาสร้างความเสียหายเดือดร้อนบางอย่าง ที่ทำให้เราผู้เป็นเจ้าของบ้านหรือที่ดินนั้นเดือดร้อนเกินควร เราจะมีสิทธิใดบ้าง ในการระงับความเสียหายเดือดร้อนที่เกิดขึ้น?
โดยปกติเมื่อเราเป็นเจ้าของทรัพย์สินใด ซึ่งในภาษากฎหมายคือบุคคลมี “กรรมสิทธิ์” ในทรัพย์สินใด ผู้นั้นย่อมมีซึ่งอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ที่มีลักษณะเป็นสิทธิเด็ดขาด (absolute right) ชอบที่จะใช้อำนาจในกรรมสิทธิ์นั้นได้ทันทีหรือโดยพลการ ไม่ต้องไปขออนุญาตใครหรือไม่จำเป็นต้องร้องขอต่อศาลบังคับให้1 ดังนั้น เขาย่อมมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผล หรือติดเอาเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดทรัพย์สินเราไว้ รวมไปถึงมีสิทธิขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นสอดเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเราโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น เมื่อเรามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนหนึ่ง เราย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยหรือขายที่ดินนั้น ใครเข้ามาในที่ดินเรา เราก็สามารถขัดขวางขับไล่ให้เขาออกไปจากที่ดินของเราได้
มาตรา 1336 ป.พ.พ. บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
สิทธิที่สำคัญในทรัพย์สินสำหรับกรณีที่เกิดขึ้น คือ เจ้าของทรัพย์ต้องการจะใช้ สิทธิขัดขวาง มิให้ผู้อื่นเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะการเข้ามายุ่งเกี่ยวรบกวนการใช้สอย (interference with use and enjoyment) 2 ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากผู้อื่นนั้นได้ทำละเมิดต่อทรัพย์สิน ยกตัวอย่างกรณีของอสังหาริมทรัพย์ เช่น กรณีมีคนข้างบ้านได้ต่อเติมอาคาร ชายคา กันสาด รุกล้ำที่ดินของเรา ถ้าการใช้สิทธิป้องกันขัดขวางนี้ได้กระทำโดยพอสมควรแก่เหตุ มิได้ใช้กำลังเกินกว่าความจำเป็น เราจะได้รับความคุ้มครองโดยผลของการนิรโทษกรรมสำหรับกฎหมายแพ่ง ส่วนกฎหมายอาญาจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 68 เนื่องจากถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 68 ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
นอกจากนี้ ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้อื่น ซึ่งในกรณีนี้คือ การทำความเดือดร้อนเสียหายต่อเจ้าของทรัพย์สิน อาจจะต้องรับผิดถ้าการกระทำดังกล่าวถึงขั้นเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 และมาตรา 421 ป.พ.พ. ซึ่งวางหลักเกณฑ์ว่า การที่ใครมาทำความเสียหายแก่สิ่งที่กฎหมายคุ้มครองแก่เรา เช่น สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ร่างกาย ผู้นั้นถือว่าทำละเมิด จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่เสียหาย รวมไปถึงการใช้สิทธิของบุคคลใดก็ตามจะต้องไม่ใช้สิทธิในลักษณะที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
มาตรา 420 ป.พ.พ. บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งของใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 421 ป.พ.พ. บัญญัติว่า “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เเกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”
หลักกฎหมายต่างประเทศโดยเฉพาะในระบบกฎหมาย Common Law ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่คล้ายคลึงกัน คือ หลักกฎหมายละเมิด (Torts) ที่เรียกว่า “Nuisance” โดยหน้าที่ของกฎหมายละเมิดกรณีของ Nuisance ยังรวมถึงการปกป้องประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับความสงบของสังคมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย3 ในแง่นี้ กฎหมายละเมิดของอังกฤษจึงมีทั้ง Private Nuisance และ Public Nuisance โดยถือว่ากรณีของ Public Nuisance คนก่อความเสียหายได้กระทำผิดหน้าที่ที่เขามีต่อผลประโยชน์ของสาธารณะไม่ใช่ประโยชน์ของปักเจกชนคนหนึ่งคนใด4
หลักกฎหมายเกี่ยวกับ Private Nuisance ซึ่งเป็นเหตุรบกวนอันสร้างความรำคาญแก่เอกชน ตั้งต้นจากแนวคิดที่ว่าเพื่อนบ้านฝ่ายหนึ่งควรจะมีสิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินของตนในลักษณะที่อาจสร้างความรำคาญบ้าง ทำให้เกิดหน้าที่ของเพื่อนบ้านข้างเคียงที่ดีที่ควรจะต้องมีความอดทนระดับหนึ่ง จนกระทั่งไปถึงจุดหนึ่ง ความรับผิดจะเกิดขึ้นเมื่อการกระทำของเพื่อนบ้านฝ่ายหนึ่ง (จำเลย) ไต่ไปถึงระดับในการเป็นผู้ใช้สอยที่ดินเกินสมควร (unreasonable) จนสร้างการรบกวนในระดับที่เกินสมควรแก่เพื่อนบ้านอีกฝ่าย (โจทก์)5 กรณีที่เคยเกิดขึ้น เช่น นาย A ทำฟาร์มหมูถัดจากที่ดินของนาย B และสร้างกลิ่นรบกวนจนเกินสมควร6
ในระบบกฎหมายไทยนั้น สำหรับกรณีของบุคคลใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรกว่าเหตุ นอกจากจะถือว่าเป็นการกระทำละเมิดแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิพิเศษที่มุ่งคุ้มครองเฉพาะเจ้าของอสังหาริมทรัพย์7 ด้วยการมอบมาตรา 1337 ให้ด้วย เจ้าของอสังหาริมทรัพย์พิเศษจึงได้ดาบคู่ คือ ดาบเล่มที่หนึ่งจากการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามลักษณะละเมิด และดาบเล่มที่สองสำหรับสิทธิพิเศษในอันที่จะขจัดปัดเป่าความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไป
มาตรา 1337 ป.พ.พ. บัญญัติว่า “บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน”
โดยจะเห็นได้ว่า ตามมาตรา 1337 นี้นั้น คนที่ใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ (เช่น เจ้าของที่ดิน บ้าน) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรแก่เหตุ (จัดเป็นการทำละเมิด) กฎหมายให้สิทธิเฉพาะเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งคำว่า เจ้าของอสังหาริมทรัพย์กินความรวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้มีสิทธิเหนือพื้นดิน ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินที่มี นส 3 หรือ นส 3 ก หรือกระทั่งที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญด้วย8 จัดการความเสียหายเดือดร้อนได้ และที่สำคัญสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำดังกล่าวที่สร้างความเสียหายได้ด้วย (ซึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้นก็คือค่าสินไหมที่เกิดจากการทำละเมิดนั่นเองครับ)
โดยพลานุภาพรุนแรงของมาตรา 1337 อยู่ที่ว่า กรณีทำความเสียหายแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงว่าผู้ก่อความเสียหายจะสุจริตมีหรือเขาจะมีสิทธิทำเพื่อประโยชน์ของเขาหรือไม่ก็ตาม เพราะเมื่อไหร่ที่มีการก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์แล้ว เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีทั้ง “สิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป” และ “สิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน”9
ความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่ว่าอาจจะเป็นเรื่องของเสียงดัง ควันฝุ่น กลิ่นเหม็น น้ำเน่า ฯลฯ ในลักษณะที่เป็นความเสียหายหรือเดือดร้อนที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับ “เกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร” วัดจากความคิดของบุคคลธรรมดา10 หากคนในย่านนั้นทนได้ เห็นว่าเป็นความเสียหายหรือเดือดร้อนธรรมดา เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะไว้ต่อกลิ่น เสียง เป็นพิเศษกว่าคนอื่น ๆ ย่อมจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากมาตรา 1337 นี้11
โดยเรื่องที่เคยเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 1337 มาแล้ว เช่น
• อาคารข้าง ๆ สะท้อนแสงเข้ามาในบ้านจนเจ้าของบ้านได้รับความเดือดร้อน การกระทำดังกล่าวเป็นละเมิด เจ้าของบ้านเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถร้องขอให้ปฏิบัติการเพื่อขจัดหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 3772/2557)
• ตึกแถวข้าง ๆ ติดกันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดิน (คำพิพากษาฎีกาที่ 877/2546)
• ปลูกสร้างอาคารบนถนนหลวงปิดกั้นที่ดินหรือบ้านเรือนของผู้อื่นซึ่งเป็นร้านค้าร้านตลาด สร้างความเดือดร้อนเพราะทำให้เจ้าของโรงตลาดขาดประโยชน์จากการรบกวน เจ้าของโรงตลาดย่อมฟ้องให้รื้อถอนและเรียกค่าเสียหายได้ (อ้างอิงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1206/2495)
• แผงลอยหรือรถเข็นวางอยู่ริมทางเท้าของถนนสาธารณะ ปิดบังหน้าร้านและด้านข้าง แม้เจ้าของจะผ่านเข้าออกร้านของเขาได้บ้างแต่ขาดความสะดวกอย่างมาก เจ้าของย่อมร้องขอให้บรรเทาความเสียหายเดือดร้อนได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3512/2535 และ 624/2544)
• อีกทั้งมาตรา 1337 ยังครอบคลุมแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งกทม.ด้วย เช่น การที่กทม.สร้างสะพานลอย แต่กีดขวางทางเข้าบ้านจนเจ้าของบ้านได้รับความเดือดร้อนหนัก (คำพิพากษาฎีกาที่ 931/2523)
อย่างไรก็ดี ความเสียหายเดือดร้อนนั้นจะต้องคำนึงถึงสภาพและตำแหน่งที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ด้วย เช่น ถ้าอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในละแวกชนบท แล้วมีโรงงานหรือฟาร์มปศุสัตว์ที่ปล่อยกลิ่นเหม็นมาก ๆ แบบนี้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีสิทธิให้โรงงานปลดเปลื้องกลิ่นดังกล่าวได้ แม้กระทั่งโรงงานส่งกลิ่นเหม็นได้ตั้งอยู่ก่อน แล้วมีคนมาสร้างบ้านอยู่ทีหลัง หากได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินกว่าที่คาดคิด เจ้าของบ้านที่มาทีหลังก็ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน มีสิทธิจะร้องขอให้โรงงานนั้นปลดเปลื้องกลิ่นเหม็นได้12 จำเลยจะยกข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายว่าก็รู้อยู่แล้วว่าจะได้รับความเดือดร้อนยังจะอยากเข้ามาอยู่อีกไม่ได้13
หากแต่กรณีที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะต้องพบเจอเสียงดังของยานยนต์บ้างเป็นธรรมดา (ให้เห็นภาพก็เช่น คอนโดมิเนียมที่ทำเลอยู่ติดรถไฟฟ้าก็ย่อมจะต้องได้ยินเสียงดังเวลารถไฟฟ้าวิ่งผ่านบ้าง) จะร้องขอความสงบเงียบเท่ากับที่ดินต่างจังหวัดที่เป็นแบบชนบท แบบนี้ก็ไม่น่าจะได้ครับ
- ประมูล สุวรรณศร, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2550), หน้า 128. ↵
- Peter Cane, Tort Law and Economic Interests, 2nd ed. (Oxford: Clarendon Press, 1996), p. 23. ↵
- Ibid., p. 16. ↵
- Nicholas J. McBride and Roderick Bagshaw, Tort Law, 5th ed. (Harlow: Pearson Education, 2015), p. 659. ↵
- Mark Lunney, Donal Nolan, and Ken Oliphant, Tort Law: Text and Materials, 6th ed. (Oxford: Oxford University Press, 2013), p. 652. ↵
- Bone v Seale (1975) 1 WLR 797. ↵
- บัญญัติ สุชีวะ, คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์, ปรับปรุงโดย ไพโรจน์ วายุภาพ, พิมพ์ครั้งที่ 17 (กรุงเทพมหานคร: เนติบัณฑิตยสภา, 2559), หน้า 226. ↵
- สมจิตร์ ทองศรี, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2561), หน้า 184. ↵
- ประมูล สุวรรณศร, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์, หน้า 197. ↵
- เรื่องเดียวกัน, หน้า 197. ↵
- บัญญัติ สุชีวะ, คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์, หน้า 230. ↵
- เรื่องเดียวกัน, หน้า 230. ↵
- สมจิตร์ ทองศรี, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์, หน้า 187. ↵
ได้ความรู้มากขึ้นเยอะเลย โดยเฉพาะการใช่อำนาจส่วนเกิน