ความรัก กฎหมาย: คำว่ารักที่ปรากฏในกฎหมาย

ความรัก กฎหมาย

ความรัก กฎหมาย

บทความโดย ศรัณย์ พิมพ์งาม

คำว่า “รัก” เป็นคำที่ทรงพลังล้นเหลือในชีวิตของคนทุกคน แล้วในแวดล้อมแห่งกฎหมายล่ะ? คำว่า รัก ได้ปรากฏหรือสอดแทรกอย่างไรในวงการกฎหมายบ้าง มีที่ใดที่ ความรัก กฎหมาย สองคำนี้ปรากฏพร้อมกันบ้าง

ครั้งหนึ่งศาลฎีกาได้อรรถาธิบายคำว่า รัก ไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 6083/2546 อย่างน่าประทับใจไว้ว่า

คำพิพากษาฎีกาที่ 6083/2546 “…ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ จำเลยจึงบันดาลโทสะฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริงคือความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียวมิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็นความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง…”

การอธิบายนิยามของคำว่า รัก ที่ศาลให้ความเห็นในฎีกานี้นั้น ค่อนข้างมีความลึกซึ้งกินใจ การที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยบันดาลโทสะเพราะเห็นว่าผู้ตายกำลังจะไปมีรักกับคนใหม่จึงได้ฆ่าเสีย เป็นเพียงการเห็นแก่ตัวของจำเลยที่จะครอบครองคนรักเอาไว้ มิใช่ความรักที่แท้ที่เป็นความเสียสละ ปรารถนา ยินดี และพร้อมจะให้อภัยกับคนรักแต่อย่างใด

แล้วนอกจากคำพิพากษาฎีกานี้ มีคำว่า รัก ในกฎหมาย ปรากฏอยู่ที่ไหนกันอีกบ้าง?

เมื่อนิยามคำว่ารักได้ปรากฏจากคำพิพากษาในคดีอาญา เราก็ควรเริ่มต้นดูคำว่า รัก จากประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) และเราก็ค้นพบว่า ปรากฏคำว่า รัก ใน ป.อ. แต่เป็นคำว่ารักที่อยู่ในคำว่า “รักษา” จำนวน 15 ครั้ง ด้วยเหตุนี้ ประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดเกี่ยวกับฐานความผิดทางอาญา ดูจะไม่มีถ้อยคำในบทบัญญัติมาตราใดเอ่ยเอื้อนถึงคำว่า รัก แท้ ๆ แค่สักครั้งเดียว

ต่อมา หากดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งวางกฎเกณฑ์และหลักกฎหมายเกี่ยวกับบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งเป็นแหล่งรวมมาตราแห่งกฎหมายอันส่วนหนึ่งประกอบไปด้วยกฎหมายครอบครัว เราน่าจะคาดหวังว่าเราจะเจอคำว่า รัก ในสถานที่แห่งนี้

หากแต่กลับกลายเป็นว่า คำว่า รัก ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มักจะมาพร้อมกับคำอื่น เช่น รวมกับคำว่า -ษา เป็น “รักษา” (ภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า maintenance หรือ keep) ซึ่งถ้านับตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตราสุดท้าย 1755 ได้ปรากฏคำว่า “รักษา” ถึง 96 ครั้ง ! และคำว่า อารักขา (custody) ในเรื่องฝากทรัพย์อีก 1 ครั้ง ดังนั้น รวมแล้วจะมีคำว่ารักปรากฏใน ป.พ.พ. ถึง 97 ครั้งถ้วน

แต่ถ้าหากว่านับคำว่า รัก คำเดียว ดูเหมือนคำว่า รัก (แท้ ๆ) จะไม่ปรากฏอยู่ในป.พ.พ. ของเราแต่อย่างใด ก็น่าสงสัยในใจของเรา หรือคำว่า รัก ได้กลายเป็นฝุ่นไปจากประมวลกฎหมายแล้ว

แต่จะว่าไป คำในบทบัญญัติคำหนึ่งคือ คำว่า “เสน่หา” ดูจะเป็นคำที่ใกล้เคียงคำว่ารักมากที่สุดในเชิงความหมาย เพราะ เสน่หา (เป็นได้ทั้งคำนามและกริยา) แปลว่า ความรัก หรือ รัก โดยมีมาตรา 521 กำหนดนิยามของ สัญญาให้ ไว้ว่า

มาตรา 521 ป.พ.พ. บัญญัติว่า “อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น”

หากแต่ตัวบทบัญญัติในภาษาอังกฤษ คำว่า โดยเสน่หา ใช้คำว่า gratuitously (adv.) = without any good reason or purpose, in a way that may have harmful effects (synonym: unnecessarily) ซึ่งพอเทียบคำแล้ว กลายเป็นว่า โดยเสน่หา อันนี้คือ การให้เปล่า ให้ฟรี โดยไม่มีเหตุผลไม่จำเป็นที่จะต้องให้ มันดูจะไม่ใช่คำว่ารักที่เราเข้าใจกันนะครับ (-_-“)

อย่างไรก็ดี คำว่า รัก แม้ไม่ปรากฏในถ้อยคำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับประมวลกฎหมายอาญา และนอกเหนือไปจากคำพิพากษาฎีกาที่ 6083/2546 ที่ได้วินิจฉัยและนิยามเรื่องความรักให้เราได้เห็นแล้ว ผู้เขียนบทความได้พยายามสืบเสาะหาคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยเกี่ยวกับคำว่า รัก แต่ … ก็ยังไม่พบฎีกาเพิ่มเติม (อ้าว!)

ทว่า แม้จะไม่เจอคำว่า รัก โต้ง ๆ แต่คำว่ารักมันไม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง แม้รักจะมิใช่ดวงดาวเมื่อพราวแสง แต่ใช่ว่าจะไม่ร้อนแรงเป็นประเด็นข้อพิพาททางกฎหมายกันนี่ ยังมีคำพิพากษาฎีกาอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องวินิจฉัยพิพากษาล่วงไปในขอบเขตเกี่ยวพันกับความรัก ซึ่งกว้างขวางครอบคลุมหลากหลายแง่มุมของความรัก ดังเช่น กรณีเรียกค่าเสียหายทางจิตใจเพราะขาดคนที่รัก ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดในเรื่องละเมิด เมื่อมีคนทำละเมิดแก่บุคคลที่คน ๆ หนึ่งรักจนเสียชีวิต บทบัญญัติในลักษณะละเมิดมิได้บัญญัติให้สามารถเรียกค่าเสียหายทางจิตใจ เช่น ขาดผู้ที่รักหรือเคารพ ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้ เช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1742/2499 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยโดยสรุปว่า ไม่มีบทบัญญัติให้เรียกร้องเพื่อค่าสินไหมทดแทนความทุกข์โทมนัสได้ โจทก์จึงไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนความวิปโยคทุกข์เสียใจเนื่องจากสูญเสียบุตรอันเป็นที่รักใคร่ ซึ่งศาลได้ตัดสินยืนยันใน คำพิพากษาฎีกาที่ 1550/2518 อีกครั้งว่า ความชอกช้ำระกำใจเพราะสูญเสียบุตรอันเป็นที่รักไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

เช่นเดียวกันกับที่ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายทางจิตใจที่เกิดความว้าเหว่เพราะสูญเสียภริยาผู้เคยปฏิบัติให้ชีวิตของโจทก์มีความสุข (คำพิพากษาฎีกาที่ 789/2502)

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า คำพิพากษาฎีกาที่ 1742/2499 มีการประชุมใหญ่ศาลฎีกาเกี่ยวกับข้อกฎหมายว่า ค่าสูญเสียบุตรและความเสียใจนั้น จัดว่าเป็น “ความเสียหายอย่างใด ๆ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 วรรค 2 หรือไม่? ในที่ประชุมใหญ่เมื่อได้มีการลงมติ ผลการลงมติเป็นว่า ไม่มีผู้พิพากษาท่านใดในที่ประชุมใหญ่ที่เห็นว่าสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนการสูญเสียบุตรที่รักและความเสียใจได้1

คำพิพากษาฎีกาที่ 677/2501 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยทำละเมิดให้มารดาโจทก์ตาย โจทก์ว้าเหว่ขาดที่เคารพรัก และขาดอุปการะที่มารดาดูแลบ้านเรือนและบุตรโจทก์ ไม่เรียกว่าโจทก์ขาดอุปการะตามกฎหมาย โจทก์เรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ไม่ได้

ฎีกานี้มีข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างกรมขับรถชนมารดาของโจทก์เสียชีวิต โจทก์อ้างว่า การเสียชีวิตของมารดานั้นทำให้ตนขาดมารดาผู้เป็นบุคคลที่เคารพรัก หากแต่ศาลเห็นว่า “…การที่นางทองเจือมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมเพราะการละเมิดของจำเลยที่ 1 ย่อมทำความโศกเศร้าเสียใจยังความว้าเหว่ขาดที่รักเคารพ และว่าขณะนางทองเจือมีชีวิตอยู่ได้ให้ความอุปการะโจทก์ในการดูแลบ้านเรือนและลูกของโจทก์ โจทก์ควรจะได้ค่าไร้ความอุปการะด้วย นั้น พิจารณาดูก็น่าเห็นใจโจทก์…” แต่ด้วยการที่โจทก์มีอายุ 30 ปี บรรลุนิติภาวะและมีสามีแล้ว ผู้เป็นมารดาย่อมมิใช่ผู้อุปการะเลี้ยงดู อีกทั้งโจทก์ยังเป็นผู้ดูแลอุปการะมารดา โจทก์จึงไม่สามารถเรียกค่าไร้ความอุปการะตามมาตรา 443 วรรค 3

อย่างไรก็ดี มีความเห็นของนักกฎหมายบางท่าน คือ ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ในหมายเหตุท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 2816/2528 ที่เห็นว่า บทบัญญัติในเรื่องละเมิดมาตรา 420 ประกอบมาตรา 438 สามารถใช้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่มิใช่เป็นตัวเงินหรือค่าเสียหายทางจิตใจได้ด้วย


บทสรุปการตามหาการคำคู่กัน : ความรัก กฎหมาย

แม้จะเห็นได้ว่าไม่มีที่ใดในกฎหมายที่บัญญัติถ้อยคำว่า “รัก” ไว้ตรง ๆ แต่ก่อนจบบทความนี้ หากเรานำคำว่ารักไปใส่ไว้ในมาตราต่าง ๆ บางมาตราก็ทำให้เราฉุกคิดอะไรขึ้นมาน่าสนใจในเรื่องรักได้ทีเดียว

หากนำไปใส่ไว้ในบทบัญญัติเรื่อง “หนี้” เช่น มาตรา 194 ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้(รัก) เจ้าหนี้(รัก)ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้(รัก)ได้ อนึ่งการชำระหนี้(รัก)ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้ — แต่ก็จะทำให้ฉุกคิดต่อไปว่าความรักเป็นหนี้หรือ? แล้วเราจะ รับช่วงสิทธิ(รัก) มีสิทธิยึดหน่วง(รัก) และถ้าเรายึดตามนิยามรักในคำพิพากษาฎีกาที่ 6083/2546 เช่นนี้แล้วตามมาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้(รัก)ของตน ความรักนี้ย่อมถือเป็นสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง เพราะ “ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้” จึงไม่มีใครสามารถไปสั่งใจเขาให้รักเราโดยเฉพาะเจาะจงได้

แล้ว…

ทำคำมั่นเรื่องความรักได้ไหม? คำมั่นว่าจะรักโดยไม่กำหนดเวลา หรือทำไว้ตลอดชีวิต

รักเป็นสัญญาหรือไม่?

รักเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สิน เรามีกรรมสิทธิ์เหนือความรักได้ไหม?

เหล่านี้ก็เป็นข้อคิดเล่น ๆ ของนักกฎหมายผู้ที่กำลังจะสร้างประมวลกฎหมายแห่งความรักครับ

  1.  ประภาศน์ อวยชัย, ข้อโต้แย้งจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือฎีกา 100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เล่ม 1 (กรุงเทพมหานคร: สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536),  469.

Comments