ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากบุตร: คำพิพากษาศาลฎีกาไต้หวัน

paying for upbringing

พ่อแม่ฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากบุตรได้หรือไม่?

โดย ศรัณย์ พิมพ์งาม
และ ปัณณธร เขื่อนแก้ว

สืบเนื่องจากข่าวที่ว่า ศาลฎีกาของไต้หวันมีคำพิพากษาให้บุตรชายผู้เป็นทันตแพทย์ต้องจ่ายเงินคืนแม่ของตนราว 20 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (หนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ) ซึ่งถือเป็นค่าเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนที่แม่ได้ส่งเสียให้ โดยบังคับตามข้อตกลงในสัญญาที่เขาได้ทำขึ้นไว้กับแม่ของตนก่อนหน้านี้ (BBC, NYT, the Guardian and Taiwan News)

ข้อเท็จจริงตามข่าวมีอยู่ว่า บุตรชายไม่ยอมจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนที่แม่ได้ส่งเสียให้จนจบคณะทันตแพทย์ ตามสัญญาที่เขาได้เคยตกลงไว้กับแม่ของตน (ผู้เป็นแม่เป็นหญิงม่ายซึ่งได้ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรเพียงคนเดียว) เนื้อหาของสัญญา คือ ลูกชายจะต้องมอบเงินจำนวน 60% ของรายได้คืนแก่แม่ของตนหลังจากเรียนจบและทำงานแล้ว ต่อมาลูกชายบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่าย แม่จึงฟ้องร้องเรียกเงินตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งทางฝ่ายลูกชายได้ยกข้อต่อสู้ว่าสัญญานี้ไม่เป็นธรรมและควรเสียเปล่าไป โดยบุตรชายยังได้ยกเรื่องของจารีตอันดีงาม (Good Custom) ขึ้นต่อสู้ว่าการส่งเสียเลี้ยงดูบุตรย่อมไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่จะนำมาตีค่าราคาเป็นเงินได้ (รวมถึงอ้างว่าได้ทำงานชดใช้เป็นหมอฟันในคลีนิกของแม่คิดเป็นเงินเกือบ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว)

อย่างไรก็ดี แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะตัดสินให้บุตรชนะ แต่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดได้กลับคำพิพากษาสองศาลล่างและตัดสินให้บุตรชายต้องจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากขณะทำสัญญานั้นเขามีอายุครบ 20 ปีแล้ว ย่อมมีฐานะเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะ อีกทั้งการทำสัญญาดังกล่าวเป็นไปโดยสมัครใจ สัญญาจึงมีผลตามกฎหมาย และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

1. หลักกฎหมายของไต้หวันที่เกี่ยวข้อง

พิจารณาข้อกฎหมายของไต้หวันจะพบว่า ตามมาตรา 12 ของประมวลแพ่งไต้หวัน (Taiwan Civil Code) ได้บัญญัติว่า “บุคคลจะบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์” ดังนั้น เมื่อมีอายุครบ 20 ปี คนไต้หวันจะบรรลุนิติภาวะ ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของบิดามารดา และสามารถทำสัญญาได้อย่างอิสระ

Taiwan Civil Code Article 12. “Majority is attained upon reaching the twentieth year of age.”

มีข้อสังเกตว่า ภายใต้มาตรา 13 กฎหมายไต้หวันกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความสามารถในการแสดงเจตนาและการกระทำที่จะมีผลทางกฎหมาย หรือที่ศัพท์ทางกฎหมายเรียกว่า “นิติกรรม” (Juridical Acts) โดยอาศัยการแบ่งแยกด้วยอายุ คือ ผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 7 ปี จะไม่มีความสามารถในการแสดงเจตนาทำนิติกรรมใด ๆ เลย แต่หากผู้เยาว์นั้นมีอายุระหว่าง 7-19 ปี ความสามารถในการแสดงเจตนาทำนิติกรรมย่อมถูกจำกัด โดยหลักคือจะต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากผู้ที่ดูแล (บิดาและมารดา)

Taiwan Civil Code Article 13. “The minor, who has not reached their seventh year of age, has no capacity to make juridical acts.

The minor, who is over seven years of age, has a limited capacity to make juridical acts.

The married minor has the capacity to make juridical acts.”

ศาลฎีกาไต้หวันได้ยกประเด็นเรื่องการทำสัญญานี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีหรือไม่ (ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของบุตรชาย) โดยมาตรา 72 ของประมวลแพ่งไต้หวัน ได้บัญญัติว่า “นิติกรรมที่ขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือศีลธรรมอันดีย่อมตกเป็นโมฆะ” (A juridical act which is against public policy or morals is void.) ดังนั้น หากสัญญาที่ตกลงกัน ขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือศีลธรรมอันดี ภายใต้กฎหมายไต้หวัน สัญญาดังกล่าวต้องตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถใช้บังคับได้ และไม่มีผลในทางกฎหมาย

Taiwan Civil Code Article 72 “A juridical act which is against public policy or morals is void.”

ซึ่งจากข่าวจะพบว่า ศาลฎีกาไต้หวันได้วินิจฉัยว่า ข้อตกลงในสัญญาที่บุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะยอมผูกพันตนว่า จะจ่ายค่าเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนที่บิดามารดาได้ส่งเสียมาตั้งแต่เด็กนั้น เป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับได้และไม่ขัดต่อกฎหมาย และจากข่าวของ The New York Times ได้ระบุไว้ในข่าวว่า ศาลยังได้ยกเหตุผลประกอบด้วยว่า มีบทบัญญัติกฎหมายรองรับเรื่องหน้าที่ของบุตรในการดูแลบิดามารดากำหนดไว้อยู่ว่าจะละทิ้งบิดามารดาตนไม่ได้ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งกฎหมายไต้หวันกำหนดไว้ในมาตราตั้งแต่ 1114-1121 ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงเห็นว่าสัญญาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับอยู่ หากปัจเจกชนผู้เป็นบุตรคนใดสมัครใจที่จะทำสัญญาจ่ายคืนค่าเลี้ยงดูที่พ่อแม่จ่ายให้ตอนเด็กย่อมทำได้โดยกฎหมาย เป็นไปตามหลักอิสระในทางแพ่งและเสรีภาพทางสัญญา

2. เปรียบเทียบกฎหมายไทยและบทวิเคราะห์

เมื่อพิจารณากฎหมายไทย เรื่องของการบรรลุนิติภาวะ เราเริ่มพิจารณาที่บทบัญญัติมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์” อันเหมือนกับกฎหมายของไต้หวัน เพราะบุคคลไทยและไต้หวันย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีเช่นเดียวกัน

บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มีอายุต่ำกว่า 20 ปี) กฎหมายไทยจะถือว่าเป็นผู้เยาว์ การกระทำการตามกฎหมาย (นิติกรรม) จะถูกจำกัด เช่น ตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

ยกตัวอย่างเช่น ผู้เยาว์เข้าทำสัญญาโดยที่ผู้ปกครอง (โดยปกติคือบิดาและมารดา) ไม่ได้ให้ความยินยอม สัญญาดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ซึ่งสัญญาที่เป็นโมฆียะ กฎหมายจะถือว่าสมบูรณ์จนกว่าจะถูกบอกล้างโดยผู้แทนโดยชอบธรรม หรือสมบูรณ์ตามกฎหมายตลอดไปเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมให้สัตยาบันรับรองสัญญาดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อบุคคลบรรลุนิติภาวะคือมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้วย่อมมีความสามารถในการทำสัญญาได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เขาสามารถเจรจาและตกลงทำสัญญากับบุคคลอื่นได้ตามใจสมัคร หากแต่ในการตกลงทำสัญญากับบุคคลใดก็ตาม จะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางกฎหมายอื่นซึ่งอาจทำให้สัญญาที่ตกลงนั้นตกเป็นโมฆะ อันส่งผลให้สัญญาที่ทำขึ้นเสียเปล่าในทางกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้ ซึ่งข้อต่อสู้ที่ลูกชายได้ยกขึ้นและศาลฎีกาไต้หวันได้ตัดสินมีเรื่องเกี่ยวกับว่า สัญญาที่ทำขึ้นนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีหรือไม่ บทบัญญัติกฎหมายไทยที่วางข้อกฎหมายในเรื่องนี้ คือ มาตรา 150

มาตรา 150 ป.พ.พ. บัญญัติว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

หากนำข้อเท็จจริงมาปรับด้วยกฎหมายไทย จะมีประเด็นว่า สัญญาที่บุตรผู้บรรลุนิติภาวะทำกับบิดามารดาของตนว่าจะจ่ายเงินคืนสำหรับค่าเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนที่บิดามารดาส่งเสียให้ตั้งแต่เด็ก สัญญาเช่นนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของไทยตามมาตรา 150 หรือไม่? หากเห็นว่า สัญญาที่บุตรผู้บรรลุนิติภาวะตกลงว่าจะจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูที่พ่อแม่ได้ส่งเสียตนมา มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวต้องตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถใช้บังคับได้ และไม่มีผลในทางกฎหมายแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 1563 และมาตรา 1564 จะเห็นว่า กฎหมายไทยวางข้อกฎหมายว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” แต่ถ้าบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยปกติบิดามารดาก็ไม่จำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไป และกฎหมายยังกำหนดไว้ด้วยว่า “บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา”

มาตรา 1563 ป.พ.พ. บัญญัติว่า “มาตรา 1563 บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา”

มาตรา 1564 ป.พ.พ. บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้”

และบทบัญญัติอื่นในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรและค่าอุปการะเลี้ยงดูก็ได้รับรองว่า ฝ่ายบุตรและฝ่ายบิดามารดาย่อมเรียกร้องหรือฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู (maintenance) ระหว่างกันได้ หากอีกฝ่ายไม่ยอมอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ได้รับไม่เพียงพอ โดยศาลสามารถตัดสินว่าจะให้เพียงใดหรือจะไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี (มาตรา 1598/38) เงินจำนวนนี้ยังอาจปรับขึ้นหรือลดลงได้หลังจากที่ศาลตัดสินแล้ว เพราะศาลมีอำนาจแก้ไขเพิกถอนเปลี่ยนแปลงได้ (มาตรา 1598/39)

ดังที่ได้อธิบายข้างต้นว่า กฎหมายไต้หวันมีบทบัญญัติกำหนดเรื่องหนี้ในค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตรกำหนดไว้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะให้ความเห็นทางกฎหมายในลักษณะเดียวกับศาลฎีกาไต้หวัน บุตรชาวไทยที่บรรลุนิติภาวะ หากสมัครใจที่จะทำสัญญาจ่ายคืนค่าเลี้ยงดูที่พ่อแม่จ่ายให้ตอนเด็กก็น่าจะทำได้ แต่อย่างไรก็ดี เหตุผลของศาลฎีกาไต้หวันก็เป็นเพียงแค่ประสบการณ์การใช้กฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งวงการกฎหมายไทยอาจไม่เห็นไปในทางเดียวกันก็ได้ครับ

Comments