หนังสือกฎหมาย เล่มไหนดี ?
Facebook: Business Analysis of Law
โดย ศรัณย์ พิมพ์งาม
และ ปัณณธร เขื่อนแก้ว
ปรับปรุงบทความใหม่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562
ตำรากฎหมายเล่มไหนดีนะ? ดูจะเป็นคำถามที่วนมาทุกปีสำหรับนิสิตนักศึกษาที่ เรียนคณะนิติศาสตร์ เพราะพวกเราย่อมหนีไม่พ้นการอ่านหนังสือกฎหมายเป็นตั้ง ๆ เอาแค่ปีหนึ่งปีเดียวก็อาจจะต้องอ่านเยอะกว่าตอนที่แอดมิดชั่นเข้าคณะนิติมาเสียอีก
หลายคนอาจจะมีปัญหาว่าหนังสือกฎหมายที่มีเยอะแยะมากมายนั้น ด้วยเวลาอันน้อยนิด ควรจะตัดสินใจเลือกอ่านเล่มไหนดี จึงจะคุ้มค่ามากที่สุด บทความนี้จึงพยายามรวบรวมหนังสือที่(ผมคิดว่า)ควรอ่าน ซึ่งแน่นอนว่าไม่อาจจะเขียนบรรยายได้ครบทุกเล่ม จึงพยายามรีวิวเล่มที่เคยมีประสบการณ์เคยอ่านมา
ด้วยเหตุนี้การแนะนำหนังสือจึงมีความเป็นอัตวิสัยระดับหนึ่ง เพราะเล่มที่ผมเห็นว่าดี คนอื่นอาจจะไม่คิดว่าดีก็ได้ ให้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำไปใช้เป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่งในการตัดสินใจซื้อและเลือกอ่านหนังสือของผู้อ่านแต่ละท่าน
*โดยลักษณะการเขียนชื่อหนังสือ คือ ชื่อหนังสือ – ชื่อผู้แต่ง และสำหรับสีที่เน้นในชื่อหนังสือ กรณีเป็นเล่มที่แนะนำทั่วไปจะใช้สีปกติ สีน้ำเงิน หมายถึงผมแนะนำอย่างมาก และ สีแดง หมายถึงเป็นเล่มที่เป็นตำนาน ตำราทรงคุณค่า ที่ผมคิดว่าควรต้องอ่านสักครั้งในชีวิต
ทั้งนี้เป็นการแนะนำตำราสำหรับการเรียนปริญญาตรีเป็นหลัก โดยผมแบ่งเป็น “ตำราหรือหนังสือหลัก” กับ “ตำราหรือหนังสือเพิ่มเติม” เพราะเข้าใจว่าในระดับปริญญาตรีเราควรจะมีหนังสือกฎหมายเล่มที่ใช้อ่าน ผมจึงพยายามแนะนำไม่ให้มากเกินไป สัก 1-2 เล่มพอ ซึ่งอาจารย์ที่สอนอาจจะแนะนำให้อ่านเล่มอื่น ๆ แตกต่างออกไปก็ได้ และส่วนตัวผมแนะนำให้ยึดและอ่านตำราหลักที่ผู้สอนในวิชานั้น ๆ กำหนดนะครับ เพราะโดยปกติข้อสอบหรือแนวคิดที่ต้องใช้การเรียนวิชานั้นก็มักจะมาจากหนังสือที่กำหนด ส่วนใครอยากอ่านเพิ่มเติมเพื่อตกผลึกทำความเข้าใจเชิงลึก ผมได้แนะนำหนังสือเพิ่มเติมไว้ด้วย
1. หนังสือกฎหมาย สำหรับวิชาพื้นฐานทั่วไป
♠ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย
เป็นวิชาที่อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย โดยปกติมักจะเป็นการปูพื้นให้นักศึกษาในชั้นปีแรกเข้าใจระบบกฎหมายของไทย แยกความแตกต่างระหว่างระบบกฎหมายคอมมอนกับซีวิลลอว์ และสอนเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานกฎหมายทั่วไป
โดยหนังสือที่ถือว่าเป็นตำนานของวิชานี้และทรงคุณค่าอย่างมากก็คือ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป – หยุด แสงอุทัย (ที่แม้อาจจะอ่านยากไปบ้างเมื่อเราอ่านตอนปีหนึ่ง) อีกเล่มที่ครบถ้วนในด้านเนื้อหาสาระและควรอ่าน คือ กฎหมายแพ่ง หลักทั่วไป – ปรีดี เกษมทรัพย์ กับ ความรู้กฎหมายทั่วไป – สมยศ เชื้อไทย เล่มหลังของอาจารย์สมยศนั้นมีการตีพิมพ์ใหม่ทุกปี จึงมีความทันสมัยมากกว่า หากแต่วิชานี้เป็นการสอนแก่นทฤษฎีของระบบกฎหมาย หนังสือเก่าก็ไม่ถือว่าล้าสมัยครับ เพราะทฤษฎีกฎหมาย หลักการ และแก่นสาระสำคัญของวิชาย่อมมีความเป็นอมตะระดับหนึ่ง
หนังสือที่น่าสนใจสำหรับทำความเข้าใจระบบกฎหมายซีวิลลอว์ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่ประเทศไทยใช้ ผมแนะนำ ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ – มุนินทร์ พงศาปาน
หนังสือวิชานี้ผมแนะนำให้เก็บเอาไว้ เพราะในชั้นปีโต แม้กระทั่งตอนปริญญาโท ส่วนใหญ่เราจะต้องวกกลับมายังหลักการพื้นฐานที่ว่า กฎหมายคืออะไร ตีความและใช้ยังไง บทหลักบทเสริม บทเคร่งครัดบทยุติธรรม กฎหมายทั่วไปกฎหมายพิเศษ เวลาที่เราจะต้องให้เหตุผลทางกฎหมายมาอธิบาย สนับสนุนความคิดตัวเอง หรืออ้างยันคนอื่น
♠ ประวัติศาสตร์กฎหมาย
เนื่องจากอาจมีความแตกต่างในการวางโครงสร้างการสอนวิชานี้ บางที่อาจเน้นสอนประวัติศาสตร์กฎหมายไทย บางที่เน้นกฎหมายต่างประเทศ ในภาพรวมผมขอแนะนำหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับความเป็นมาในการจัดทำประมวลกฎหมาย เพราะส่วนตัวคิดว่า เนื่องจากระบบกฎหมายที่เราใช้อยู่นั้นมีรากฐานที่มาจากกฎหมายของยุโรป (ผ่านมาทางญี่ปุ่น) และสืบย้อนขึ้นไปถึงโรมัน การทำความเข้าใจว่า ประเทศไทยได้รับและพัฒนาปรับปรุงกฎหมายในช่วงจัดทำประมวลกฎหมายอย่างไร จึงมีความสำคัญมาก
เล่มที่แนะนำได้แก่ ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย – แสวง บุญเฉลิมวิภาส เล่มนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับสมัยจัดทำประมวลกฎหมายค่อนข้างละเอียด ซึ่งแนะนำให้อ่านประกอบกับ การร่างประมวลกฎหมายในประเทศสยาม – สุรพล ไตรเวทย์ และเล่มต่อมาคือ ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย – ร. แลงกาต์ ซึ่งผมคิดว่า ร. แลงกาต์ คือนักกฎหมายไม่กี่คนที่เชี่ยวชาญเชิงลึก (มาก) ในประวัติศาสตร์กฎหมายไทยยุคสมัยก่อนจัดทำประมวลกฎหมาย
♠ นิติปรัชญา
วิชานี้เป็นวิชาชั้นสูง เรียนเกี่ยวกับปรัชญา หลักความคิด และที่มาของนิติศาสตร์ ปกติมักจะเรียนในช่วงชั้นปีที่ 4 ถ้าหากต้องการจะอ่านตำรานิติปรัชญาของกฎหมายไทยสักเล่ม เล่มที่เป็นตำนาน คือ นิติปรัชญา – ปรีดี เกษมทรัพย์ โดยศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี ผู้เป็นนักกฎหมายชั้นครูที่สร้างทฤษฎีกฎหมายสามชั้น หรือกฎหมายสามยุคขึ้นมาอธิบายวิวัฒนาการของกฎหมาย
อีกสามเล่มที่แนะนำเพิ่มเติมเป็นตำรานิติปรัชญาน้ำดีของวงการ คือ นิติปรัชญา – วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ครับ ซึ่งเล่มของอ.วรเจตน์จะอธิบายแนวคิดความเป็นมาในละแต่ยุคละเอียดมาก ๆ จริง ๆ มีเล่มเล็ก ๆ นิติปรัชญาเบื้องต้น – สมยศ เชื้อไทย ด้วยครับ สำหรับการอ่านทำความเข้าใจภาพรวมและใช้ทวน และถ้าไหว ผมแนะนำ นิติปรัชญาแนววิพากษ์ – จรัญ โฆษณานันท์ ซึ่งเสนอความคิดใหม่ ๆ ที่ใช้ถกเถียงกันในแวดวงนิติปรัชญา อันที่จริงตำรานิติปรัชญาของอ.จรัญก็ดีนะครับ
2. หนังสือกฎหมาย วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์
วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ วิชาที่เรียนเกี่ยวกับกฎหมายตั้งแต่บรรพ 1-6 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื้อหาจึงมีค่อนข้างมาก โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
♥ บุคคล
วิชานี้เป็นการเรียนเกี่ยวกับบุคคลและนิติบุคคล หนังสือที่แนะนำ คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล – ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล แต่หากอยากอ่านเล่มเล็กกะทัดรัดสามารถอ่าน หลักกฎหมายบุคคล – กิตติศักดิ์ ปรกติ ทุกเล่มเหล่านี้มีการปรับปรุงเนื้อหาล่าสุด บทบัญญัติกฎหมายในเล่มจึงมีความทันสมัยแต่หากต้องการอ่านในระดับสูงขึ้น
♥ นิติกรรม-สัญญา
วิชานี้ค่อนข้างเป็นหัวใจของกฎหมายแพ่ง เนื่องจากนิติกรรมเป็นหลักกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ครอบคลุมทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลที่จะมีผลในทางกฎหมาย ส่วนสัญญาก็เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง การได้หนังสือที่ปูพื้นฐานทางทฤษฎีอย่างดีย่อมเป็นประโยชน์ต่อการเรียนชั้นปีสูง ๆ ต่อไป
หนังสือหลัก เล่มที่ผมแนะนำอย่างมาก คือ คำอธิบายนิติกรรม สัญญา – ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ เล่มนี้มีความครบถ้วนเกือบทุกอย่างในเรื่องกฎหมายนิติกรรม-สัญญา เนื้อหาภายในเล่มบรรจุไปด้วยทฤษฎีกฎหมาย การใช้และการตีความกฎหมาย ลักษณะการจัดวางหัวข้อคล้ายคลึงกับตำรากฎหมายของต่างประเทศ มีการรวบรวมคำพิพากษาเอาไว้ในลักษณะของตัวอย่างการใช้กฎหมายที่ปรับปรุงเพิ่มเติมทุกปี และสามารถใช้อ่านได้ตลอดชีวิต เรียนปริญญาโทก็ใช้ (เสริม: คุณสุขใจ ปานผาสุก บัณฑิตนิติมธ.ปริญญาตรีที่ได้คะแนนสูงสุดของรุ่น กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นตำราที่อ่านเข้าใจง่าย ประกอบด้วยแหล่งอ้างอิง ความเห็นของผู้เขียน และความเห็นในทางวิชาการ)
ส่วนหนังสือเพิ่มเติม ที่ใครสนใจลงลึก อยากอ่านเล่มอื่น ๆ เพื่อต่อยอด ผมแนะนำตำราของปรมาจารย์กฎหมายทั้งหลาย คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียงมาตรา ว่าด้วย นิติกรรม ระยะเวลา อายุความ บรรพ 1 มาตรา 149-193/35 – พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล) ซึ่งตำราของพระยาเทพวิทุรเป็นเล่มสำคัญ ที่เมื่อมีการแก้ไขบทบัญญัติในบรรพ 1 ตำราของท่านได้ถูกนำมาอ้างอิงประกอบการปรับปรุงกฎหมายเกือบทุกมาตรา
อีกเล่มที่ผมว่าดีในส่วนของกฎหมายสัญญา คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียงมาตราว่าด้วยสัญญา บรรพ 2 มาตรา 354-394 – จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นตำราที่เขียนด้วยถ้อยคำกระชับแต่เต็มไปด้วยแง่คิดทางกฎหมาย แต่หากอยากได้ตำราที่เขียนอย่างละเอียดพิสดาร เต็มไปด้วยทฤษฎีและการอธิบายหลักกฎหมายเชิงลึก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในชั้นปริญญาโทอย่างมาก ต้องอ่าน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ เล่ม 1 (ภาค 1-2) – ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
และหากอยากอ่านคำอธิบายที่มีการเปรียบเทียบหลักกฎหมายต่างประเทศ ถ้าเป็นกฎหมายฝรั่งเศสมีตำรา หลักกฎหมายแพ่งลักษณะนิติกรรมและสัญญา – จิ๊ด เศรษฐบุตร หรือถ้าต้องการพิจารณาแนวเปรียบเทียบกับหลักกฎหมายเยอรมันต้อง กฎหมายแพ่งลักษณะมูลหนี้หนึ่ง – หยุด แสงอุทัย
♥ หนี้
หนังสือหลัก กฎหมายหนี้เป็นหนึ่งในลักษณะกฎหมายสำคัญที่เป็นรากฐานในการทำความเข้าใจกฎหมายแพ่งทั้งระบบ เรียนเกี่ยวกับเรื่องของหนี้ว่า ความสัมพันธ์ในทางหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นอย่างไร ตำราที่ดีมีค่อนข้างมาก ไม่มีเล่มที่อยากแนะนำที่สุด
ส่วนตัวผมอ่าน คำอธิบายกฎหมายลักษณะหนี้ (ผลแห่งหนี้) – ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ เพื่อทำความเข้าใจในภาพรวมของวิชา ส่วนเล่มอื่นต่อไปนี้ท่านสามารถเลือกลงไปต่อยอดได้ โดยตำราที่เขียนอธิบายได้ดีเช่นกัน และมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา คือ กฎหมายหนี้: หลักทั่วไป – ดาราพร ถิระวัฒน์ (ค่อนข้างอธิบายส่วนของการชำระหนี้โดยบุคคลภายนอกได้อย่างละเอียดลออ) หรือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยผลและความระงับแห่งหนี้ – จรัญ ภักดีธนากุล (เล่มนี้มีการอธิบายกฎหมายนิติกรรม-สัญญาและหลักกฎหมายแพ่งทั่วไปด้วย) หรือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ – ไพโรจน์ วายุภาพ
หนังสือเพิ่มเติม มีตำราชั้นสูงทรงคุณค่าที่จะต่อยอดความคิดลงไปในเชิงลึก อาจจะเหมาะสมกับระดับชั้นปริญญาโทที่ต้องการค้นคว้าลึก ๆ คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป – โสภณ รัตนากร หรือ หลักกฎหมายแพ่งลักษณะหนี้ – จิ๊ด เศรษฐบุตร หรือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ เล่ม 2 (ภาคบริบูรณ์) – ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
♥ ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้
หนังสือหลัก สำหรับวิชานี้คิดว่า คำอธิบายกฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้ – ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ มีความครบถ้วนทั้งในด้านเนื้อหาทางทฤษฎี คำอธิบายที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการรวบรวมตัวอย่างของคำพิพากษาที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยทุกปี (คุณอติภา จันทร์วีระเสถียร บัณฑิตนิติ มธ. ที่จบโดยได้คะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์คณะที่ 89.55% ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นเล่มที่ละเอียดชัดเจน มีตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาให้จำนวนมาก ทำให้เข้าใจได้ง่าย)
หนังสือเพิ่มเติม มีตำราชั้นสูงที่ทรงคุณค่ามากในสายตาผมสำหรับวิชานี้ คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียงมาตราว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ละเมิด บรรพ 2 มาตรา 395-452 – จิตติ ติงศภัทิย์ ที่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงจากคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ให้ทันสมัย
และตำราต่อไปนี้หากอ่านประกอบก็จะทำให้ท่านเข้าใจกฎหมายละเมิดได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิด – ไพจิตร ปุญญพันธุ์ ซึ่งไม่หนามากจนเกินไป และมีการวางหลักเกณฑ์ประกอบการอธิบายหลักกฎหมายละเมิดอย่างละเอียด เช่นเดียวกับอีกเล่ม คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลักษณะละเมิด – สุษม ศุภนิตย์
ตำราที่อธิบายหลักกฎหมายฝรั่งเศสในเรื่องละเมิดอย่างละเอียดในเรื่องนี้ คือ หลักกฎหมายแพ่งลักษณะละเมิด – จิ๊ด เศรษฐบุตร แต่อาจจะอ่านยากนิดหน่อยนะครับ
♥ ทรัพย์
วิชานี้เป็นอีกหนึ่งวิชารากฐานสำคัญในการเข้าใจระบบกฎหมายแพ่งของไทย หนังสือหรือตำราหลักที่ถือว่าเป็นความคิดพื้นฐานของนักกฎหมายไทย คือ คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์ – บัญญัติ สุชีวะ จำเป็นที่จะต้องอ่านเล่มนี้ปูพื้นฐานอย่างยิ่ง เพราะแนวความคิดในเล่มนี้คือแนวคิดกระแสหลักของวงการกฎหมายทรัพย์สินของไทยครับส่วนเล่มอื่นสำหรับใครที่สนใจ
ยังมีตำราเล่มอื่นที่น่าสนใจอีก คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน – วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ หรือ กฎหมายทรัพย์สิน – อานนท์ มาเม้า ซึ่งเล่มของอาจารย์อานนท์จะมีส่วนของประวัติศาสตร์แหล่งที่มาของบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะทรัพย์หลายเรื่อง ใครอยากทำความเข้าใจแนวความเป็นมา เล่มของอ.อานนท์ค่อนข้างจะช่วยเรื่องนี้ได้ดี
ถ้าเป็นตำราเพิ่มเติมระดับชั้นครูจะมีอีก 2 เล่ม คือ อธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายลักษณะทรัพย์ – ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งอาจจะอ่านยากนิดหน่อย ไม่เหมาะสำหรับเป็นเล่มเริ่มต้น กับ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ – ประมูล สุวรรณศร
♥ ครอบครัว
ตำราหลักที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานของวิชานี้คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว – ประสพสุข บุญเดช เล่มใหญ่สุด คือ หนามาก หล่นใส่ขามีร้องไห้ได้ (ฮ่า ๆ) ซึ่งจะมีเล่มเล็กอีกเล่ม คือ หลักกฎหมายครอบครัว เขียนโดย อ.ประสพสุข คนเดียวกัน ซื้อเล่มเล็กมาอ่านก่อนก็ได้ครับ ใช้ทวนก่อนสอบได้ด้วย ส่วนอีกเล่มที่มีความครบถ้วนในเนื้อหาเช่นเดียวกันและแนะนำให้อ่านคู่ไปด้วย คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว – ไพโรจน์ กัมพูสิริ ครับ
♥ มรดก
วิชานี้แนะนำตำรา หลักกฎหมายมรดก – ไพโรจน์ กัมพูสิริ ซึ่งเขียนโดยสรุปหลักเกณฑ์ของกฎหมายมรดกไว้ แต่ทั้งนี้มีตำรากฎหมายมรดกอีกเล่มที่ส่วนตัวผมคิดว่า มีการจัดเรียงความคิดทางกฎหมายไว้อย่างดี เหมาะแก่การอ่านมองภาพรวมตอนเริ่มเรียน และใช้สำหรับอ่านทวนตอนเรียนเนติบัณฑิต คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก – หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
สำหรับหนังสือเพิ่มเติม ถ้าต้องการตำราเชิงทฤษฎีที่น่าสนใจ ผมขอแนะนำตำรา คำอธิบายกฎหมายลักษณะมรดก – พินัย ณ นคร ที่ค่อนข้างมีความละเอียด และเสริมแง่มุมความคิด ประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจเอาไว้ตลอดทั้งเล่มสำหรับท่านที่อยากอ่านเชิงลึกลงไปอีก อาจอ่านตำรา กฎหมายลักษณะมรดก – เพรียบ หุตางกูร และอันที่จริง หากชอบเล่มเล็กกะทัดรัดไว้อ่านทบทวน ผมแนะนำ หลักกฎหมายมรดก – มัทยา จิตติรัตน์
♥ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ
วิชานี้ขอแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ตำรากฎหมายลักษณะ “ซื้อขายฯ” ผมแนะนำ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขาย – ไพจิตร ปุญญพันธุ์และประพนธ์ ศาตะมาน ค่อย ๆ อ่านทำความเข้าใจ ตำรานี้อธิบายเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและสัญญาจะซื้อขายอย่างละเอียดชัดเจน ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญมาก
ตำราซื้อขายเล่มอื่นที่แนะนำอ่าน คือ คำอธิบายซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ – ไผทชิต เอกจริยกร (ซึ่งจะมีตัวอย่างของฎีกาทันสมัยครบถ้วนที่รวบรวมไว้แบบเรียงปี อันเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังสืออาจารย์ไผทชิต) หรือ คำอธิบายซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ – ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ (เล่มนี้จะเน้นที่คำอธิบายหลักกฎหมายในเชิงทฤษฎีอย่างเป็นเอกลักษณ์ของหนังสืออาจารย์เอง หากใครเคยอ่านตำราเล่มอื่นของท่าน น่าจะพอเห็นภาพครับ)
ส่วนตำรากฎหมายว่าด้วย “เช่าทรัพย์” ผมแนะนำ คำอธิบายเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ – ไผทชิต เอกจริยกร (ซึ่งจะมีตัวอย่างของฎีกาทันสมัยครบถ้วนเหมือนเดิม) หรือ คำอธิบายกฎหมายเช่าทรัพย์ – เช่าซื้อ – ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์
♥ ยืม ฝาก ฯลฯ
ตำราที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับหลักการทางทฤษฎีไว้ค่อนข้างดีและทันสมัย คือ คำอธิบายยืม ฝากทรัพย์ – ไผทชิต เอกจริยกร ส่วนเล่มที่รวบรวมคำพิพากษาฎีกาเป็นตัวอย่างไว้จำนวนมากซึ่งจะช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักฐานเป็นหนังสือ หรือข้อต่อสู้ต่าง ๆ ในสัญญายืม คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ – ปัญญา ถนอมรอด (เล่มนี้สามารถใช้อ่านในส่วนของกฎหมายว่าด้วยหลักประกันได้อีกด้วย)
♥ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง
สามารถใช้เล่มข้างบนมาอ่านในวิชานี้ต่อ คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ – ปัญญา ถนอมรอด ได้เลยครับ
♥ ตัวแทน
ตำราที่ทันสมัย มีการรวบรวมฎีกาครบถ้วน และอธิบายหลักกฎหมายอังกฤษกับฝรั่งเศสเปรียบเทียบตลอดเล่ม คือ ตัวแทน – นายหน้า – ไผทชิต เอกจริยกร หากแต่ตำราเก่าที่ทรงคุณค่าในวิชานี้ยังมีตำรา คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทนและนายหน้า – กุศล บุญยืน อีกเล่มหนึ่งครับ
♥ ห้างหุ้นส่วน บริษัท
ตำราที่เขียนได้ละเอียด มีเนื้อหาเสริมเกี่ยวกับในทางปฏิบัติ คือ คำอธิบายกฎหมายลักษณะห้างหุ้นส่วนบริษัท – สหธน รัตนไพจิตร แต่หากอยากได้คำอธิบายที่ละเอียดลออมาก ๆ อธิบายหลักการทางทฤษฎีไว้ค่อนข้างมาก ผมแนะนำ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัท – โสภณ รัตนากร
♥ ตราสารเปลี่ยนมือ
ผมแนะนำเล่ม คำอธิบายกฎหมายตั๋วเงิน – สหธน รัตนไพจิตร เป็นเล่มที่เขียนได้กะทัดรัด ครบถ้วน และหากใครมีเวลาอาจอ่านต่อด้วยตำราเล่มต่อไปนี้ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน – เสาวนีย์ อัศวโรจน์ หรือ คำอธิบายกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน – ไพฑูรย์ คงสมบูรณ์
♥ แรงงาน
ตอนผมเรียนผมอ่านตำรากฎหมายแรงงานของท่านอาจารย์สุดาศิริ วศวงศ์ แต่ยังมีตำราของท่านอาจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ กับอาจารย์วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม ที่ใช้อ่านประกอบการเรียนในหลายมหาวิทยาลัย
♥ ประกันภัย
เล่มที่เป็นตำราหลักและแนะนำอ่าน คือ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย – จิตติ ติงศภัทิย์
3. วิชากฎหมายอาญา
♦ ภาคทั่วไป
วิชานี้เป็นการวางพื้นฐานเกี่ยวกับทฤษฎีว่าการกระทำเช่นใดเป็นการกระทำผิดทางอาญา โทษทางอาญา ฯลฯ เล่มที่ขาดไม่ได้และเรียกได้ว่าเป็นตำราสำคัญในการเรียนกฎหมายอาญาสมัยปัจจุบัน คือ คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป – เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ ยังไงก็ต้องอ่านเล่มนี้ครับ ซึ่งตอนนี้ตีพิมพ์ใหม่แยกเป็น 2 เล่มแล้ว ส่วนเล่มที่สำคัญอีกเล่ม คือ กฎหมายอาญา ภาค 1 – หยุด แสงอุทัย
นอกจากนี้ ผมแนะนำอย่างยิ่งว่า นักศึกษาควรซื้อ ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับอ้างอิง – ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งจะมีทั้งตัวบทและคำอธิบายสั้น ๆ รวมถึงคำพิพากษาฎีกาอ้างอิง ประกอบการเรียนวิชานี้และวิชากฎหมายอาญาวิชาต่อไป
และตำราเพิ่มเติมสำหรับท่านที่สนใจอ่านตำราเชิงลึกที่เป็นตำนานซึ่งเขียนได้ละเอียดลออ พิสดาร เป็นที่มาและเป็นแหล่งอ้างอิงของงานกฎหมายในทางอาญาปัจจุบันเกือบทั้งหมด คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 – จิตติ ติงศภัทิย์
♦ ภาคความผิด
วิชานี้ต่อยอดจากอาญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนหลักเกณฑ์เฉพาะเรื่องที่ประมวลกฎหมายอาญาได้มีการบัญญัติความผิดในแต่ละกรณีเอาไว้ หากท่านใดชอบ งานเขียนของอาจารย์เกียรติขจร สามารถอ่านตำรากฎหมายอาญาภาคความผิด ซึ่งมีทั้งหมด 4 เล่ม เช่นเดียวกับท่านอาจารย์หยุดก็จะมีตำรากฎหมายอาญาภาคความผิดเช่นเดียวกัน
และยังมีตำรากฎหมายอาญาเพิ่มเติมที่เขียนได้ดี มีการอธิบายหลักกฎหมายในเชิงทฤษฎีไว้ค่อนข้างละเอียด คือ คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด เล่ม 1 และเล่ม 2 = คณพล จันทน์หอม หรืออาจเลือกอ่านเสริมจากหนังสือ คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ = ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เพิ่มเติมครับ หรืออยากได้แบบล้ำลึก แหล่งที่มาของตำรากฎหมายอาญาสมัยใหม่ทั้งหลาย เราต้องอ่านตำราของท่านอาจารย์จิตติครับ คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2-3 – จิตติ ติงศภัทิย์
4. วิชากฎหมายมหาชน
♣ มหาชนเบื้องต้น
ตำรากฎหมายมหาชนเล่มสำคัญของไทยที่เขียนได้ครบถ้วนและจำเป็นที่จะต้องอ่านอย่างยิ่ง คือ ตำรากฎหมายมหาชนทั้ง 4 เล่มของศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อันได้แก่ กฎหมายมหาชน เล่ม 1: วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่าง ๆ กฎหมายมหาชน เล่ม 2: การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย กฎหมายมหาชน เล่ม 3: ที่มาและนิติวิธี และ กฎหมายมหาชน เล่ม 4: รัฐหากต้องการอ่านเพิ่ม
อยากอ่านเพิ่มเติม ผมแนะนำอ่าน คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน – วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หรือ หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น – สมยศ เชื้อไทย หรือ หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน – เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
♣ รัฐธรรมนูญ
วิชานี้มีตำราที่น่าสนใจหลายเล่มซึ่งควรเลือกอ่านประกอบกัน คือ คำอธิบายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ – บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ: แนวคิดและประสบการณ์ของต่างประเทศ – ชาญชัย แสวงศักดิ์ หรือ กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
♣ ปกครอง
แนะนำตำรา ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง: หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองและการกระทำทางปกครอง – วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (อาจจะหาซื้อค่อนข้างยากในปัจจุบัน) หรือ คำอธิบายกฎหมายปกครอง – ชาญชัย แสวงศักดิ์ หรือ กฎหมายปกครอง – นันทวัฒน์ บรมานันท์ หรือ คำอธิบายกฎหมายปกครอง (ภาคทั่วไป) – จิรนิติ หะวานนท์
5. วิชากฎหมายระหว่างประเทศ
· คดีเมือง
วิชากฎหมายระหว่างประเทศคดีเมืองนั้นสำหรับผู้ทีเพิ่งเริ่มต้นศึกษาอาจลองอ่านเล่ม กฎหมายระหว่างประเทศ – จุมพต สายสุนทร หรือ กฎหมายระหว่างประเทศ – จตุรนต์ ถิระวัฒน์
· คดีบุคคล
วิชานี้แนะนำ คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล – ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ครับ
6. วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความ
• วิธีพิจารณาความแพ่ง
ตำรากฎหมายในวิชานี้มี คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง – ไพโรจน์ วายุภาพ ซึ่งมี 3 เล่ม คือ บททั่วไป วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น อุทธรณ์และฎีกา ซึ่งจริง ๆ แล้ววิชานี้มีผู้เขียนตำราอีกหลายท่าน เช่น 2 เล่มของอาจารย์ จรัญ ภักดีธนากุล – กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วย อุทธรณ์ฎีกา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วย การบังคับคดี
• วิธีพิจารณาความอาญา
ตำราที่ปูพื้นฐานและวางข้อคิดทางทฤษฎีและจะทำให้เข้าใจภาพกว้างของวิชานี้ ผมแนะนำ คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา – เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ ตามด้วยตำราที่ดีมากของวิชานี้อีกเล่ม คือ ตำราของท่านอาจารย์ ธานิศ เกศวพิทักษ์ ทั้ง คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1 ภาค 1-2 (มาตรา 1-156) และ คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 2 ภาค 3-4 (มาตรา 157-245)
ทั้งนี้ ผมแนะนำเหมือนกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความแพ่ง นักศึกษาน่าจะซื้อประมวลกฎหมายที่มี ตัวบท คำอธิบายย่อ และเอกสารอ้างอิง คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับอ้างอิง – สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ไว้ใช้ประกอบการเรียนครับ
• พยาน
ตำรากฎหมายลักษณะพยานที่น่าสนใจมีหลายเล่ม เช่น คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน – จรัญ ภักดีธนากุล หรือ คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน – เข็มชัย ชุติวงศ์
7. วิชากฎหมายอื่น ๆ
นอกจากวิชากฎหมายหลักที่จะได้เรียนเหมือนกันในหลายมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีวิชากฎหมายอื่นที่สำคัญซึ่งบางทีอาจถือเป็นวิชาบังคับหรือบางที่อาจถือว่าเป็นวิชาเลือก ได้แก่
(1) ทรัพย์สินทางปัญญา
กฎหมายนี้มีเนื้อหาหลักแบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า หนังสือที่รวบรวมทุกเนื้อหาไว้ในเล่มเดียว คือ ลักษณะของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา – ไชยยศ เหมะรัชตะ หากต้องการอ่านเฉพาะกฎหมายลิขสิทธิ์อาจอ่านจาก คำอธิบายกฎหมายลิขสิทธิ์ – อรพรรณ พนัสพัฒนา
(2) ล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
เนื้อหาของวิชานี้โดยปกติจะมี 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของหลักเกณฑ์เกี่ยวกับล้มละลาย และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ ตำราที่ใช้อ่านกันในโรงเรียนกฎหมาย มีอยู่ประมาณ 3 เล่ม คือ กฎหมายล้มละลาย ฉบับสมบูรณ์ – วิชา มหาคุณ หรือ กฎหมายล้มละลาย – เอื้อน ขุนแก้ว หรือ คำอธิบายกฎหมายล้มละลาย – ชีพ จุลมนต์ และกนก จุลมนต์
(3) การค้าและธุรกิจระหว่างประเทศ
วิชานี้จะมีเนื้อหาที่กว้างขวาง แต่โดยปกติการเรียนการสอนครอบคลุมสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ และการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งบางครั้งก็รวมไปถึง Incoterms ผมขอแนะนำหนังสือไว้ 3 เล่ม คือ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ – กำชัย จงจักรพันธ์ หรือ คำอธิบายกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ: กฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายระหว่างประเทศและการชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศ – ชวลิต อัตถศาสตร์ หรือ คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยการรับขนของทางทะเล และการประกันภัยทางทะเล – อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ
(4) ภาษีอากร
โดยปกติวิชากฎหมายภาษีที่เรียนเป็นวิชาพื้นฐานมักจะเป็นเรื่องของภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่จริง ๆ แล้วขอบเขตของกฎหมายภาษีค่อนข้างกว้าง เพราะยังมีภาษีบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตและภาษีธุรกิจเฉพาะ) ภาษีระหว่างประเทศ ภาษีทรัพย์สิน ภาษีศุลกากร เล่มที่ค่อนข้างหน้าแต่จะมีคำอธิบายครบถ้วน คือ คำสอนวิชากฎหมายภาษีอากร – ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม แต่หากต้องการลงลึก สำหรับภาษีระหว่างประเทศ ผมแนะนำ สารพันปัญหาภาษีระหว่างประเทศ เล่ม 1 -4 – พล ธีรคุปต์
(5) กฎหมายแข่งขันทางการค้า
มี หนังสือกฎหมาย ที่เขียนอธิบายวิชานี้ได้ดีอยู่ 2 เล่มในไทย เล่มแรกเป็นการอธิบายพื้นฐานทฤษฎีและหลักการของกฎหมายแข่งขันทางการค้า คือ หลักการและกฎเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 – สุธีร์ ศุภนิตย์ อีกเล่มที่อธิบายได้ดี คือ คำอธิบายและกรณีศึกษาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า – ศักดา ธนิตกุล
(6) กฎหมายกับเศรษฐศาสตร์
มี หนังสือกฎหมาย อยู่ 3 เล่มที่อธิบายภาพรวมของการวิเคราะห์กฎหมายโดยใช้เศรษฐศาสตร์ได้ละเอียดมาก คือ กฎหมายกับธุรกิจ: แนวคิด หลักกฎหมาย และคำพิพากษา – ศักดา ธนิตกุล และเล่มเล็ก คือ กฎหมายกับเศรษฐศาสตร์: ทรัพย์สิน สัญญา และละเมิด – ศักดา ธนิตกุล
ส่วนใครต้องการหนังสือสำหรับเน้นเฉพาะอ่านสอบเนติบัณฑิตหรือผู้ช่วยพิพากษา ลองดูคำแนะนำของผู้สอบได้ลำดับต้น ๆ ของสนามสอบนั้น ๆ น่าจะดีกว่าครับผม กดคลิ๊กที่ชื่อได้เลย
สอบเนติบัณฑิต
คำบรรยายสำคัญที่สุดครับ
บทสัมภาษณ์ที่ 1 เนติบัณฑิตล้วนมีแนะนำให้อ่านคำบรรยายให้จบ และส่วนใหญ่ทุกท่านมักจะซื้อคำบรรยายปีก่อนหน้ามาอ่านล่วงหน้าก่อนด้วย ลองอ่านบทสัมภาษณ์รายคนได้เลยครับ เช่น คุณศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก (ที่ 1 เนติ เกียรตินิยม สมัย 70) คุณรวินทร์ ถกลวิโรจน์ (ที่ 1 เกียรตินิยม สมัย 68) คุณไกรพล อรัญรัตน์ (ที่ 1 สมัย 64) คุณฐิติมา แซ่เตีย (ที่ 1 เกียรตินิยม สมัย 63)
สอบผู้ช่วยผู้พิพากษา
คุณสรรเสริญ เอี่ยมสุทธิวัฒน์ อันดับ 1 ผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 68 ที่ 1 เนติบัณฑิตไทยสมัย 65
คุณวิริยะบัณฑิต คีรีธีระกุล อันดับ 1 ของผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 66