MBA จากมุมมองนายจ้าง

ในยุคที่หลายคนสนใจจะเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) ผมได้ไปเจอบทความน่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองที่นายจ้างมีต่อคนที่จบ MBA จาก CNBC + Financial Times (FT) : What employers want from MBA graduates—and what they don’t สรุปคร่าว ๆ ได้ว่า

FT ได้ทำการสำรวจนายจ้างเกี่ยวกับการจ้างงานคนที่จบ MBA โดยพบว่า ความเชื่อของนายจ้างกับเด็กจบ MBA ค่อนข้างสวนทางกัน MBA ไม่ใช่ใบเบิกทางสำหรับทุกอย่างในวงการธุรกิจ

People think an MBA is a golden ticket, when it is not.

1. ความสามารถบางอย่างที่น่าสนใจกว่า MBA

นายจ้างกลุ่มหนึ่งได้อธิบายว่า เด็กที่จบ MBA นั้นขาดทักษะ (Skills) หลายอย่างที่จำเป็นในสายตาพวกเขา อันได้แก่

(1) ความสามารถในการทำงานร่วมกับคนที่หลากหลาย (the ability to work with a wide variety of people)

(2) ความสามารถในการจัดลำดับความสำคัญ (the ability to prioritize)

(3) ความสามารถในการบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ (the ability to manage time effectively) ซึ่งเป็นความสามารถที่หาได้ยากยิ่งในคนทั่วไป

ความสามารถพวกนี้เป็นทักษะที่เรียกว่า Soft Skills ซึ่งไม่มีในการเรียนการสอนของโรงเรียนบริหารธุรกิจที่อาจจะเน้นเรื่องการตลาดหรือการเงินเป็นหลัก และดูเหมือนว่า the ability to network จะเป็นสิ่งที่นายจ้างส่วนใหญ่สนใจมาก ๆ

2. บางอย่างที่เป็นปัญหาและที่ขาดหายไปของ MBA

ทั้งนี้นายจ้างบางอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มพลังงาน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ วิศวกรรมโยธา ขนส่ง มีความต้องการพนักงานระดับ senior ที่จบ MBA น้อยมาก เพราะพวกเขาคิดว่าโรงเรียนธุรกิจไม่ได้สอนทักษะที่จำเป็นในสายอาชีพของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งทางโรงเรียนสอนธุรกิจก็พยายามช่วยเหลือนักศึกษาของตน เช่น ร่วมมือกับนายจ้างซะเลยว่าต้องการอะไรแล้วก็พัฒนาหลักสูตรให้ทันหรือสอดรับ

ลองมาดูว่านายจ้างยังได้บอกอะไรไว้อีกบ้าง เช่น นักศึกษา MBA มักจะมีปัญหาในการนำทฤษฎีมาใช้ในทางปฏิบัติ (triggled to convert theory into practice) อาจจะเนื่องมาจากเคสที่ใช้ศึกษาในห้องเรียนเป็นกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับบริษัทใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติอเมริกัน ทำให้อาจไม่สามารถนำมาปรับใช้ในกรณีของบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทที่มีวัฒนธรรมแบบอื่น ๆ

นอกจากนี้ นายจ้างยังประสบปัญหาอีกว่า พอนักศึกษา MBA ได้เข้ามาทำงานสักพักก็มักจะลาออกไป อันส่งผลทำให้บริษัทเกิดการหยุดชะงักในส่วนงานนั้น และนายจ้างบางอุตสาหกรรมยังบอกอีกว่า ใบแสดงคุณสมบัติบางอย่างอาจจะส่งผลต่อการจ้างงานมากกว่า เช่น การเป็นสามัญวิศวกร (charted engineer) ในสายงานวิศวะ อาจจะเป็นที่ต้องการมากกว่าวุฒิ MBA

ความสามารถที่ขาดหายไปที่นายจ้างส่วนใหญ่อยากได้ คือ ความสามารถในการมองภาพใหญ่ (big-picture thinking) หรือความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อน (an ability to solve complicated problems) และบางครั้งเนื่องจากไม่ได้โตมาในสายงานของบริษัท นักศึกษา MBA จึงเข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมของบริษัทนั้น (lack pf cultural fit)

นายจ้างบางที่ เช่น Expedia กลับมองว่า ความสามารถในการทำงานเป็นทีมและความตั้งใจที่จะอยากทำงานกับบริษัทในระยะยาวกลับเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจจ้างงานมากกว่า

“The ideal candidate is someone we would like to have long term, which means they have to really want to work at Expedia.”

ยิ่งในสายงานที่ต้องการทักษะสำคัญโดยเฉพาะทักษะอันเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก เช่น งานเกี่ยวกับ Big Data Analysis พวกนี้ต้องการผู้สมัครที่มีความรู้เชิงลึกและประสบการณ์ ซึ่งไม่สามารถหาได้ในการเรียน MBA จึงมีบางคนให้ความเห็นว่า ในระดับชั้นบริหาร วุฒิ MBA อาจมีความสำคัญ แต่กับงานระดับปฏิบัติการโดยเฉพาะที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคมาก ๆ วุฒิ MBA จะมีความสำคัญที่น้อยลงไปอย่างมาก

“An MBA is helpful in securing a rewarding senior executive role, but admits that it is not sufficient in industries where people are also expected to have certain technical skills or experience.”

Kevin Marvinac แห่งบริษัท TransparentCareer ได้ให้ความเห็นไว้ว่า มันคงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ในบริษัทเทคโนโลยี หากคุณไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโปรกรม (how to code)

จากบทความนี้ทำให้เห็นได้ว่า การพัฒนาทักษะ Soft Skills ทั้งหลายมีความสำคัญมาก ๆ เลยทีเดียวครับ

Comments