“ดอกเบี้ย” คือ ผลตอบแทนของเงินในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งทุกครั้งที่คุณถือเงิน ถ้าเราคิดในฐานะของมนุษย์ทางการเงินที่มีเหตุผล ต้นทุนเงินแบบไร้ความเสี่ยง (risk-free rate) ก็คือ เงินนั้นคุณไม่ได้ถือไว้เฉย ๆ คุณเอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลเอาไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน ถ้าดู ณ วันที่เขียนบทความนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 2.73% ต่อปี หากแต่คำว่าดอกเบี้ยที่เคยผ่านตานักกฎหมายมา เรามักจะพบคำนี้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โดยมาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี”
และ มาตรา 654 บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี“
เพราะฉะนั้นในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน ถ้าไม่กำหนดไว้ก็จะเสีย 7.5% ต่อปี แต่ถ้ากำหนดเอาไว้ก็จะกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปีไม่ได้ (โปรดสังเกตว่า มาตรา 654 อยู่ในเรื่องสัญญายืม)
หากแต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 บัญญัติว่า “บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพราง การให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(๑) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้…”
ผลของพระราชบัญญัตินี้ทำให้การกู้ยืมเงินที่มีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะต้องรับโทษทางอาญาด้วย กฎหมายในเรื่องเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจึงเป็นข้อห้ามตามกฎหมายและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกลงแตกต่างจากกฎหมายไม่ได้
กลับมาที่เรื่องดอกเบี้ยในลักษณะเงิน ๆ ทอง ๆ ของเราต่อ
อธิบายสำหรับความเข้าใจทั่ว ๆ ไป ก่อนนะครับ ในสัญญากู้ยืมเงินกันเนี่ย สมมตินาย ก. ไปขอกู้นาย ข. 100 บาท ตามกฎหมายปัจจุบัน นาย ข. จะไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยได้เกิน 15% ต่อปี นั่นหมายความว่าปีนึง จะได้ดอกเบี้ยแค่ 15 จาก 100 บาท แสดงว่าการกินดอกเบี้ยจากเงินต้น 100 ท่านจะต้องใช้เวลาถึงเกือบ 7 ปี ในการได้ดอกเบี้ยเท่าเงินต้น ถามว่าผลตอบแทน 15% ต่อปี ถ้าคิดดอกเบี้ยทบต้น (compound) เงินของเราจะโตเป็นเท่าตัว โดยเฉลี่ยทุกๆ 5 ปี และถ้าคุณทำผลตอบแทนได้เท่านี้ตลอดไป ผลตอบแทนระยะยาวของคุณจากสัญญากู้ยืมเงิน จะสูงกว่าการลงทุนในหุ้นโดยเฉลี่ยประมาณ +3% ขึ้นไป (ตามทฤษฎีนะครับ เพราะผลตอบแทนของตลาดหุ้นระยะยาวจะอยู่ในช่วงระหว่าง 8 – 12% ต่อปีทบต้น) ถือว่าผลตอบแทนจากดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือว่าสูงมาก ถ้าเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนตามทฤษฎีการเงิน
ถามว่าอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีเนี่ย เคยมีการคิดแก้ไขกันไหม ตอบว่า มี ครับ ถ้าเราลองเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ ก็จะมีทั้งที่เรตต่ำกว่าเรา และเรตสูงกว่าเรา บางที่กำหนดคงตัว บางที่กำหนดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ถ้าดูจากตอนที่คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประมวลฯบรรพ 1 ถกกัน จะพบว่า มีการลองเปรียบเทียบกับต่างประเทศเพื่อดูความเหมาะสมในการแก้ไขด้วย ในยุคนั้นประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมีการแก้ไขในปี 1975 จากอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (float rate) ตามอัตราที่ธนาคารชาติจะกำหนด ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศอื่น ดอกเบี้ยจะวิ่งอยู่ที่อัตราคงตัว (fixed rate) 3-6% ต่อปี และบางที่พึ่งมีการปรับลด เช่น ญี่ปุ่น จาก 5% เหลือ 3% ซึ่งกลายเป็นว่าบ้านเรานั้นสูงพอตัวครับ เพราะเราให้ 7.5% ต่อปียืนพื้น
ถ้ามาดูอัตราดอกเบี้ยที่เรียกได้สูงสุด ของไทยเราจะ 15% ต่อปี แต่บางประเทศเช่น ญี่ปุ่น นี่สูงถึง 20% ได้เลย แล้วก็มีความน่าสนใจตรงแบ่งเรตดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้ครับ เช่น ต่ำกว่า 100,000 เยน คิดได้สูงสุด 20% ต่อปี ถ้ากู้กันเกินหนึ่งล้านเยน คิดได้ไม่เกิน 15% และถ้าคิดเกิน ศาลจะใช้วิธีลดให้กลับมาเหลือ 15%
โปรดสังเกตว่าหลักการคล้ายของไทยสมัยก่อน ที่ถ้าดอกเบี้ยเกิน 15% ก็จะลดลงมาเหลือ 15% แต่เพราะ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ กำหนดโทษทางอาญาเอาไว้ การปรับใช้กฎหมายของเราจึงไปในทางที่ใช้หลักโมฆะแยกส่วน (มาตรา 173) ให้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่ส่วนที่เป็นเงินต้นบังคับใช้ต่อได้ตามกฎหมาย ก็คือ ยังต้องมีการคืนเงินต้นกันอยู่ แต่ส่วนข้อตกลงให้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจะหายไป
จริง ๆ ถ้าในภายภาคหน้าคาดหวังว่าเงินจะเฟ้อไปเรื่อย ๆ แล้ว ในทางการเงินนั้น การเป็นลูกหนี้มีสถานะที่ดีกว่าเจ้าหนี้ระดับหนึ่ง เพราะตัวเจ้าหนี้ก็จะได้เงินที่มูลค่าลดลงไปเรื่อย ๆ ครับ เงินที่เราจ่ายในอนาคต ถ้าคิดลดมูลค่าเงินตามเวลา เงินที่ได้รับในวันนี้ย่อมดีกว่าเงินในวันหน้า เว้นแต่การให้กู้นั้นจะได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และเจ้าหนี้ได้ผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Return) ที่หักเงินเฟ้อแล้วจะต้องเป็นบวก เช่น เงินเฟ้อระยะยาว 3% คุณต้องได้ผลตอบแทนระยะยาวที่มากกว่าเงินเฟ้อ (ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า 3% ขึ้นไป) ถึงจะรักษาระดับความมั่งคั่งและอำนาจซื้อได้ครับ