อุตสาหกรรมค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง

ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง”

โมเดิร์นเทรดหรือร้านค้าสมัยใหม่ที่ขายของเหล่านี้ในบ้านเรานั้นค่อนข้างมี หลายเจ้า และเติบโตอย่างรวดเร็วมาหลายปีล่ะครับ ผู้เล่นหลักก็เช่น โฮมโปร ไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์ ดูโฮม ฯลฯ

ตัวเร่งหลัก คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทั่วไปที่ย้ายการซื้อจากร้านดั้งเดิมทั้งหลาย ทำให้การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดแรกๆแย่งจากร้านค้าเดิม ๆ ไม่ได้แย่งส่วนแบ่งตลาดหรือกินกันเอง ช่องว่างในการเติบโตจึงสูงมาก เพราะอุตสาหกรรมค้าปลีกก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่ากว่า 3-4 แสนล้านบาทต่อปี ค้าปลีกที่ขายของพวกนี้ให้ก็เป็นหลักแสนล้านเช่นเดียวกัน

ผู้ซื้อกลุ่มหลักในสมัยก่อนก็คือช่างก่อสร้างและฝ่ายจัดซื้อทั้งหลาย แต่ด้วยเทรนด์ของคนทั่วไปที่เริ่มสนใจการออกแบบตกแต่งบ้านตัวเอง ทำให้ลูกค้าประเภทผู้บริโภค เจ้าของบ้าน เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ดูอย่าง โฮมโปรก็ได้ ลูกค้าที่มาซื้อคือเจ้าของบ้านเก่าที่มาดูสินค้าไปซ่อมแซมตกแต่งบ้านคิดเป็น กว่า 80% ซึ่งเอาจริงๆแล้วถ้าลองศึกษาในต่างประเทศ ตลาดซ่อมแซมบ้านเก่าในระยะยาวควรจะโตมากกว่าตลาดก่อสร้างบ้านใหม่ หากแต่ในไทยนั้นยังสามารถโตได้ทั้งสองอย่างครับ

การขยายสาขาของร้านเหล่านี้่ค่อนข้างดุเดือด ปีนึงตกแล้วขยายสาขารวมกันกว่า 20 สาขา พวกบริษัทเหล่านี้มีการเติบโตสูงมากๆ ลองมาดูภาพรวมตอนสิ้นปี 2015 กันครับ

(1) GLOBAL

โกลบอลเฮ้าส์ ขยายไป 6 สาขา ทำให้ณ สิ้นปี 2015 มี 38 สาขา ข้อน่าสังเกตคือ เป็นสาขาในต่างจังหวัดหมดเลย (กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง) ก่อตั้งโดยคุณวิทูร สุริยวนากุล โมเดลการลงทุนสาขาของโกลบอลแต่แรกนั้นมักจะซื้อที่ดินแล้วสร้างสาขา(ไม่เน้นเช่า) ทำให้ช่วงแรก ๆ ขยายสาขาไม่หวือหวาเท่าไหร่ หนึ่งสาขาของโกลบอลใช้งบลงทุนประมาณ 300-500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดสาขา 

บริษัทค่อนข้างโตก้าวกระโดดตั้งแต่มี บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) เข้ามาร่วมทุนด้วย (2012)  ทำให้ปลอดภาระหนี้สิน คราวนี้ติดปีกเลยเพราะได้ทั้งเงินทุน ทั้งความรู้ระบบจัดการต่างๆ โดยเฉพาะโลจิสติกส์ของ SCC ขึ้นชื่อว่าแข็งแกร่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ได้ร่วมทุนกับเครือค้าปลีกวัสดุก่อสร้างของลาวที่ชื่อ สุวันนี โฮมเซ็นเตอร์ ซึ่งหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ลาวแล้ว ทำให้สัดส่วนถือหุ้นของกลุ่มปูนซีเมนต์ไทย-โกลบอลเฮาส์เหลือ 34% (เพราะฉะนั้นสัดส่วนเทียบตามการถือหุ้นแล้วเท่ากับ GLOBAL ถือ 17%) บริษัทสุวันนีที่ไปลงทุนนี้ก็ถือว่างบการเงินดีนะครับ งบปี 2014 รายได้ประมาณ 1,200 ล้านบาท กำไร 85 ล้านบาท (อัตรากำไรสุทธิประมาณ 7%) 

(2) ไทวัสดุ 

ร้านในเครือเซ็นทรัล มี 41 สาขาทั่วประเทศ (เป็นต่างจังหวัด 35 สาขา) เริ่มหันมาเน้นต่างจังหวัด ใช้งบลงทุนสาขาละประมาณ 300-500 ล้านบาท เคยอ่านบทสัมภาษณ์ผู้บริหารนั้นตั้งใจที่จะเน้นเพิ่มยอดขายสาขาเก่าๆที่เปิดไว้แล้วมากกว่า การพูดแบบนี้ทำให้มองได้ว่า สาขาเก่า ๆ มีรายได้ที่น่าจะคงที่หรือติดลบ เพราะคู่แข่งก็เปิดสาขากันค่อนข้างมาก คงกำลังวางกลยุทธ์กันใหม่อยู่ เนื่องจากหนึ่งจังหวัดอาจชนกันหลายเจ้า + ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี การแข่งขันเริ่มรุนแรง

จริง ๆ ถือว่าเจ้านี้มาแรงนะครับ สมัยก่อนเปิดโฮมเวิร์คก่อน มาเปิดไทวัสดุก็ตอนปี 2010 แต่บุกไวมากๆ (เฉลี่ยผ่านมาห้าปีเปิดปีละ 7-8 สาขา) รายได้ FY2015 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ถือว่าโตมาไวมากครับ เพราะถ้าหารรายได้ต่อสาขาตอนนี้เท่ากับหนึ่งสาขาได้รายได้ปีละ 500 ล้านบาท  ย้อนไปปี 2010 สาขาแรกที่เปิดคือ บางบัวทอง มีสาขาเดียวตอนนั้นก็มีรายได้ทั้งปีแค่ 500 ล้านบาท สัดส่วนยอดขายของบริษัทมาจากลูกค้าที่เป็นเจ้าของบ้าน 60-70% ที่เหลือเป็นผู้รับเหมาช่างก่อสร้างหรือเจ้าของโครงการ

(3) HMPRO

โฮมโปร (และแบรนด์ในเครือที่พึ่งปั้นคือ เมก้าโฮม) มีสาขา 77 แห่ง ดูจากคู่แข่งทั้งหมด เจ้านี้สาขาเยอะสุดทิ้งห่างพอควร ที่สำคัญคือได้เปิดสาขาที่จังหวัดหลัก ๆ เกือบหมดแล้ว จึงออกโมเดลใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือ การสร้าง โฮมโปรไซส์เล็ก(พื้นที่ขาย พันตร.ม. สินค้าสองหมื่นรายการ จากปกติ พันตร.ม. หกหมื่นรายการ) เริ่มที่สุโขทัยสาขาแรก

ทั้งนี้ได้แตกไลน์ไปเปิด Mega Home ตอนสิ้นปีมี 7 สาขา มีรายได้คิดเป็นร้อยละ 5 ของยอดขายรวม โฮมโปรเป็นธุรกิจของกลุ่ม Land&House และ Q-House (กลุ่มอัศวโภคิน) สร้างไปสร้างมามีมูลค่าตลาดสูงกว่าบริษัทแม่ไปซะแล้ว

(4) เจ้าอื่นๆ หลักๆได้แก่ ดูโฮม มีสาขา 7 แห่ง โฮมฮับ 5 สาขา เคยอ่านข่าวเข้าใจว่าทั้งคู่มีแผนจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นครับ อาจจะ 2-3 ปีข้างหน้า

ลองดูงบการเงินโดยเปรียบเทียบยอดขายย้อนหลัง 6 ปีของสามผู้เล่นหลัก เราจะเห็นอัตราเติบโตทบต้นของยอดขายเฉลี่ยที่ประมาณ 20% ต่อปี (HMPRO 16.8%, GLOBAL 23.9%, ไทวัสดุ 100%)

ค้าปลีกวัสดุ

จะเห็นว่ารายได้ 3 บริษัทรวมกันก็ประมาณเกือบ 100,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ซึ่งครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ยังอยู่ในมือของผู้ประกอบการรายย่อย (Tradition Trade)

ในส่วนของอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) โฮมโปรอยู่ที่ 6% กว่าๆ โดยสมัยก่อน 7% แต่ลดลงมาจากการรวมยอดขายของ Mega Home ซึ่งมีอัตราทำกำไรต่ำกว่าครับ ส่วน GLOBAL อยู่ที่ 5%

ปัจจุบันบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นคือ โกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) และ โฮมโปร(HMPRO) ถ้าวัดจากมูลค่าบริษัทหรือ marketcap โฮมโปรสูงถึง 120,000 ล้านบาท ขณะที่โกลบอลน้อยกว่าเกือบ เท่า คือมีมาร์เก็ตแคพที่ 40,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าใหญ่ทั้งคู่ เป็นหุ้น BigCap

ร้านพวกนี้วัดกันที่การบริหารจัดการร้าน เพราะอย่าลืมว่าร้านพวกนี้ต้นทุนไม่น่าจะต่างกันมาก Key Success คือ ใครคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า (Cost Leadership)  ออกแบบร้านให้เพิ่มอัตราทำกำไรได้มากขึ้น เช่น พยายามเพิ่มยอดขายสินค้าแบรนด์ตัวเอง (Private Brand) หรือขยายสาขาที่มีศักยภาพได้มากกว่า

หากแต่โดยภาพรวมแล้ว การขยายสาขาเพิ่มก็ยังพอทำให้หุ้นกิจการพวกนี้โตต่อไปได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าครับ ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตได้ดี แต่ต้องระวังเรื่องการประเมินกิจการ เพราะหุ้นพวกนี้ค่อนข้างยอดนิยม ทำให้อัตราส่วนหลายอย่าง โดยเฉพาะค่า P/E (HMPRO 32, GLOBAL 38) สูงกว่าตลาดหุ้นโดยรวมมาก ๆ จึงเป็นกลุ่มหุ้นที่แบกความคาดหวังของนักลงทุนไว้สูงครับ ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นในอนาคต ใครซื้อที่ราคาแพงๆอาจจะเจ็บตัวได้


** เนื้อหาในเว็บไซต์นี้เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้ชวน แนะนำหรือชักจูงการลงทุนใดๆทั้งสิ้น และจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆจากการนำข้อมูลนี้ไปใช้ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

Comments