Dictionary แบบ Eng-Eng ตัวช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ

dictionary

Dictionary Eng-Eng เป็นอาวุธคู่ใจในการพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างหนึ่งคือ ซึ่งดิกที่เหมาะสำหรับคนใช้หรือเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 (English as a second or foreign language – ESL) คือ ดิกพวก Advanced Learner’s ซึ่งเจ้าดัง ๆ ได้แก่ (กดที่ชื่อมันจะไปที่หน้าเว็บของมันครับ)

1. Longman Dictionary of Contemporary English

2. Oxford Advanced Learner’s dictionary

3. Cambridge Advanced Learner’s

4. Collins Cobuild Advnced Learner’s

5. Merriam-Webster Advanced Learner’s

ทั้งหมดเป็นดิกของบริษัทอังกฤษยกเว้น Merriam ที่เป็นดิกจากทางฝั่งอเมริกา แต่ทุกเจ้าจะมีการอธิบายคำศัพท์ครบทั้งอังกฤษแบบ British และ American) โดยดิกพวกนี้จะต่างจากดิกของเจ้าของภาษา Native-Speaker เพราะเขาจะพยายามอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ให้คนที่เรียนภาษาอังกฤษอย่างพวกเราข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากจะบอกความหมายและลักษณะของคำ เช่น เป็น noun (countable-uncountable), verb, adjective etc. หรือบอกว่าคำนี้นั้นอ่านอย่างไร (pronunciation) และเน้นเสียง (stress) ตรงไหน (ในหน้าเว็บหรือในมือถือทุกเจ้าจะมีปุ่มให้กดฟัง) เช่น คำว่า Interesting เป็นคำคุณศัพท์ (Adj.) อ่านว่า ˈɪntrəstɪŋ (อินเทร้สติ้ง = 3 พยางค์) ซึ่งเครื่องหมาย ‘ บอกเราว่าต้องเน้นหนักเสียงพยางค์แรกตรง in

ตัวอย่างจาก Cambridge Advanced Learner’s
interesting2

Dictionary กับฟังก์ชันต่าง ๆ 

นอกจากนี้ดิก อังกฤษ – อังกฤษ พวกนี้ก็จะยังมีส่วนขยายหลายอย่างเพิ่มมาให้ เพื่อให้เราพัฒนาภาษาอังกฤษไปไวขึ้น เช่น

1. example

สิ่งที่สำคัญมากและทุกดิก ESL ต้องมีไม่ว่าเจ้าไหน คือ “ตัวอย่างการใช้ประโยค” ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจความหมายของคำนั้นได้ดีขึ้น ซึ่งทุกเจ้ามีตัวอย่างให้ค่อนข้างมาก แต่หลังจากที่เปิดบ่อย ๆ นี่ผมคิดว่า Longman มีเยอะสุด ที่เหลือก็เบียดกันมา บางดิกก็ให้ตัวอย่างพร้อมกับอธิบายตัวอย่างเพื่อกันงง เช่น ตัวอย่างคำว่า success ของดิก Merriam – He tried to repair the engine but without success. [=he was not able to repair the engine]

2. Usage/Common error

การใช้งานคำศัพท์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ คนอาจจะงงว่า effect กับ affect หรือ take กับ bring ต่างกันยังไง ดิกพวกนี้มักจะมีคำอธิบายให้เรา เช่น ในความหมายที่คล้ายกันว่า change in something/ cause sth. คำว่า affect เป็น v. ไม่ตามด้วย on ส่วน effect มักจะใช้ว่า Something has an effect on

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเป็นทางการ (formal or informal) หรือเรื่องของภาษาพูดภาษาเขียน เช่น คำว่า maybe ถ้าจะใช้ในการเขียนควรจะใช้ perhaps มากกว่าและยังดูทางการกว่าด้วย

หรือเรื่องของ British/American คำ ๆ นี้อาจจะพบในการใช้เฉพาะอังกฤษแบบอเมริกันหรือบริติช หรือมีความหมายเฉพาะ เช่น Awesome มันจะให้ความหมายไปในทางเครียด ๆ (An awesome person or thing is very impressive and often frightening.) แต่ถ้าเป็นแบบอเมริกันไม่เป็นทางการมันแปลว่า very good ได้ด้วย

ตัวอย่างของดิก Longman ที่อธิบายข้อควรระวังของ affect/effect
affect

Merriam-Webster อธิบายความต่างการใช้ take/bring
usage

3. verb form

dictionary บางเจ้าจะมีตารางให้ว่าช่อง 2 3 ของคำกริยานี้ผันอย่างไร เติม -ed -s แล้วรูปคำเป็นแบบไหน ซึ่งพวกนี้เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของคนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ดิกที่เคยใช้มาและละเอียดสุดในฟังก์ชันนี้คือดิกของ Oxford ส่วน Merriam ก็มีแต่ไม่ละเอียดเท่า (ตามรูปข้างล่างครับ)

Oxford
verbform
Merriam-Webster
verbform2

4. Collocations

dictionary ที่ดีควรมีฟังก์ชัน collocations หรือ คำปรากฏร่วม ในภาษาอังกฤษนั้นมักจะมีคำที่ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของการใช้ภาษา และคนเรียนอังกฤษส่วนใหญ่ไม่รู้ (แต่จริง ๆ แล้วมันเห็นบ่อยนะ) เช่น fast food / quick meal แต่ไม่มี fast meal – quick food ถ้าเราใช้มันจะดูแปลกมาก ๆ เช่น คนไทยเราก็จะพูดว่า ฝนตกหนัก ลมแรง มันไม่มี ฝนตกแข็ง ลมหนัก อะไรแบบนี้ ดิกพวกนี้จะบอกเรา เช่น ถ้าจะใช้ have an impact on ก็เลือกคำขยายได้ที่คนอังกฤษใช้บ่อยคือ have a major impact on / have a significant impact on เรื่อง collocations สำคัญมากกกกก และดิกที่มีตรงนี้ดี ๆ ให้เรา ผมพบว่ามี 2 เจ้า คือ Longman กับ Oxford แต่ Longman ดีกว่านิดนึงเพราะมีให้เกือบทุกคำจริง ๆ เป็นดิกที่เคลมเรื่องนี้ว่าตัวเองเด่น

ตัวอย่างจาก Longman ตัวที่เน้นสีดำมักจะเป็น collocations e.g. major/significant
impact

ตัวอย่าง Oxford ให้ Collocations ของคำว่า ‘role’
role

5. ฟังก์ชันอื่น

ยกตัวอย่างเช่น Cambridge เป็นดิกที่มีระดับคำตามเกณฑ์ CEFR (เกณฑ์มาตรฐานภาษาของยุโรป คนที่เรียนฝรั่งเศสเยอรมันจะเข้าใจที่เขาบอกว่าระดับ A1 A2 B1 B2 C1 C2) นั่นล่ะ เคมบริดจ์จะบอกเราว่าศัพท์นี้คือศัพท์ระดับไหน ส่วน Oxford/Longman จะมีการบอกความถี่ของการใช้คำ ๆ นั้น เช่น practice เป็นหนึ่งใน 1,000 คำแรกที่ใช้บ่อยสุดในการเขียน

การบอกระดับคำศัพท์ของ Cambridge (A1-C2)a1

การบอกความถี่ในการใช้ของ Longman/Collins Cobuild
s1
wordfrequentcy

Dictionary แบบฟรีและเสียค่าใช้จ่าย

dictionary เหล่านี้มีทั้งแบบหน้า website และ mobile ซึ่งหน้าเว็บใช้ฟรี ส่วนแอพในมือถือเสียเงิน แต่คุ้มมากกก ผมเปิดบ่อยจนชินมือ สงสัยคำไหนเปิดทันที ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราควรจะใช้ดิก Eng-Eng เพราะเวลาเราอ่านความหมาย เรากำลังเข้าใจในสิ่งที่คนอังกฤษเขาเข้าใจคำนั้นจริง ๆ การเปิดดิก Eng แปลไทยทำให้เราเสียโอกาสที่จะทำความเข้าใจตรงนี้

และที่สำคัญ ดิกไทยเป็นดิกที่แปลอังกฤษไม่ครบ เพราะพอเปิด dict eng-eng ถึงรู้ว่าหนึ่งคำของเขามันหลากหลายความหมายมาก ๆ แต่พอแปลไทย หลายที่แปลให้ 1 คำ = 1 ความหมาย การเปิดดิกไทยจึงทำให้เราเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งที่สำคัญไปหลายอย่างมากกกก ต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงลิบลิ่ว ใครที่พึ่งลองใช้แม้เปิดแล้วมันจะไม่ค่อยเข้าใจแต่ถ้าลองเปิดอ่านและใช้ไปเรื่อย ๆ พอฐานคำศัพท์ขยาย มันจะเริ่มไม่ยากล่ะ เป็นการลงทุนที่คุ้มแน่ครับในระยะยาว มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันเถอะ

โดยส่วนตัวผมเปิดใช้ทุกดิกประกอบกันไปเลย 5 ดิก เวลาเปิดในคอมหน้าเว็บนั้น ดิกอันดับ 1 ที่เปิดบ่อยสุดคือ Longman ตามมาด้วย Oxford ส่วน Merriam ผมจะใช้ตอนอ่านบทความของสำนักพิมพ์หรือสำนักข่าวอเมริกา เพราะรู้สึกว่า Merriam จะอธิบายให้เราเข้าใจในมุมมองแบบอเมริกัน ส่วน Collins ใช้เปิดหาพวก Phrasal Verb/Idiom และส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นดิกที่พยายามอธิบายเป็นประโยคมากที่สุด อธิบายเหมือนคนพูดให้ฟัง (ซึ่งหลายคนชอบ) นอกจากนี้ส่วนของตัวอย่างเพิ่มเติม เขาจะไปดึงจากข่าวตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีการใช้คำนั้นจริงให้เรา ก็เป็นข้อดีครับ ส่วน Cambridge เปิดน้อยสุด แต่ก็พยายามเปิดประกอบกันไปเพราะบางคำนั้นเปิดเจ้าเดียวก็งง ผมต้องเปิดประกอบกัน หรือบางคำนั้นบางดิกให้คำอธิบายและตัวอย่างการใช้หรือข้อแนะนำที่ดีกว่าครับ ซึ่งเปิดเล่มเดียวจะพลาดได้

ประเด็นเรื่องจะใช้ดิกแบบเล่มหนังสือ ดิกในเว็บไซต์หรือมือถือ เอาจริง ผมซื้อแบบเล่มมาด้วย แต่มันหนา น้อยครั้งมากที่จะได้เปิด บางคนก็บอกว่าเปิดเล่มแล้วจำได้ดีกว่าเปิดในคอมหรือมือถือ ถ้ามีเวลาผมก็จะเปิด เช่น อยู่ในห้องที่บ้าน แต่ส่วนใหญ่เปิดในมือถือครับ ซึ่งอย่างผมใช้ ios ก็โหลดแอพพวกนี้มา ส่วนใหญ่ก็เหมือนในหนังสือนั่นล่ะ ข้อดีคือมันมีปุ่มกดให้ฟังเสียง ก็ถือว่าค่อนข้างสะดวกในการพกพาและการใช้งานจริงระดับหนึ่งครับ อันเป็นปัจจัยสำคัญในยุคนี้

ป.ล. เรื่องของดิกที่อธิบายเป็นภาษาเขาเองสามารถนำไปใช้ได้กับการเรียนทุกภาษานะครับ เช่น ถ้าอยากจะเข้าใจคำศัพท์เยอรมันจริง ๆ ก็ต้องใช้ ดิก German-German ซึ่งเขาก็จะมีแบบ Advanced Learner’s เช่นของ Langenscheidt Großwörterbuch Deutsch als Fremdsprache

Comments