การร่างกฎหมาย: สไตล์และโครงสร้างกฎหมายแพ่ง

การร่างกฎหมาย สไตล์ และโครงสร้างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

โดย ศรัณย์ พิมพ์งาม
และ ปัณณธร เขื่อนแก้ว

1. บทนำ: การร่างกฎหมายแพ่ง สไตล์ โครงสร้าง

หลายท่านอาจสงสัยว่าการที่นักเรียนกฎหมายไทยไปเรียนกฎหมายที่ต่างประเทศมันจะนำกลับมาใช้ในไทยได้หรือ? เพราะกฎหมายมันน่าจะต่างกัน กฎหมายน่าจะมีความเป็นท้องถิ่น เป็นเรื่องของแต่ละประเทศ กฎหมายของประเทศอื่นจะเอามาใช้ได้อย่างไร

หากแต่ถ้าเจาะลงไปเฉพาะกฎหมายแพ่งของไทย เราจะพบว่า รากฐานกฎหมายแพ่งของเรามีแนวคิดทางกฎหมายไปทางเดียวกับกฎหมายในภาคพื้นทวีปยุโรปเป็นหลัก คือ กฎหมายของเยอรมัน ฝรั่งเศส สวิส ฯลฯ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ (Civil Law) แม้จะมีแนวคิดบางอย่างจากกฎหมายอังกฤษที่เป็นคอมมอนลอว์ (Common Law) บ้างก็ตาม

และหากมองหารากฐานต่อไป กฎหมายแพ่งยุโรปในกลุ่มของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) ก็สืบสายพัฒนาต่อมาจากกฎหมายโรมัน1 ดังนั้น การจะทำความเข้าใจหลักกฎหมายแพ่งของไทยย่อมควรต้องอาศัยความรู้ในด้านกฎหมายแพ่งของยุโรปและกฎหมายแพ่งของโรมันก็จะทำให้เห็นภาพความคิดทางกฎหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

2. การร่างกฎหมาย: การเลือกระบบเป็นซีวิลลอว์

ภายหลังที่ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินและปฏิรูปการศาลในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 อันนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งในระยะแรกมีการประกาศใช้กฎหมายเฉพาะเรื่องหรือนำหลักกฎหมายอังกฤษซึ่งเป็นกฎหมายต่างประเทศมาใช้พิพากษาคดี อิทธิพลของกฎหมายอังกฤษจึงมีค่อนข้างสูง อีกทั้งการเรียนการสอนกฎหมายในยุคนั้นก็มีการสอนและอ้างหลักกฎหมายอังกฤษเป็นอย่างมาก2 และแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายให้เป็นไปในระบบซีวิลลอว์ แต่แนวคิดในหลักกฎหมายของอังกฤษก็ยังคงเป็นมรดกตกทอดในกฎหมายไทยหลายลักษณะ เช่น กฎหมายลักษณะพยาน ห้างหุ้นส่วน ตั๋วเงิน หรือล้มละลาย3

อย่างไรก็ดี การเลือกใช้ระบบกฎหมายเป็นซีวิลลอว์ย่อมเป็นการแตกต่างจากระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ในหลายประการ เช่น ในระบบคอมมอนลอว์ คำพิพากษาของศาลเป็นที่มาของกฎหมาย เมื่อคดีเกิดขึ้นและศาลได้วินิจฉัยพิพากษาคดีแล้ว คำพิพากษาของศาลดังกล่าวย่อมเป็นบรรทัดฐานของศาลอื่นที่จะพิพากษาในประเด็นเดียวกันที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแบบเดียวกัน4 (Precedent) และนักกฎหมายคอมมอนลอว์จะเห็นว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษรจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด5

หากแต่ในทางตรงกันข้าม ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์นั้น คำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการตีความตัวบทกฎหมาย เพราะบทบัญญัติกฎหมายเป็นที่มาหลักของกฎหมายในระบบซีวิลลอว์6 กรณีของประเทศไทยซึ่งใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ จึงไม่ยึดถือหลัก Precedent ทำให้คำพิพากษาในคดีก่อนไม่เป็นบรรทัดฐานหรือข้อผูกมัดที่ศาลในคดีหลังจะต้องยึดถือและพิพากษาตาม7

นอกจากนี้ ถ้าถามถึงฐานรากของประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย จะพบว่าเส้นสายสืบได้จากที่เดียวกันคือ กฎหมายของโรมัน (Roman Law) คำว่าซีวิลลอว์ (Civil Law) ไม่ได้หมายถึงประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย แต่หัวใจของระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ คือ การสืบสายกฎหมายมาจากโรมัน (Civil Law -> Civil = ius civile หรือกฎหมายที่ใช้กับพลเมืองโรมัน)8 ซึ่งกฎหมายโรมันได้วิวัฒนาการสืบต่อมาเป็นหลักกฎหมายของประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป รวมถึงเป็นที่มาของฐานความคิดของประมวลกฎหมายแพ่งสำคัญของโลกในเวลาถัดมา9

ยกตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายนโปเลียนหรือประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส ค.ศ. 1804 ซึ่งมีอิทธิพลต่อประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศต่าง ๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ สเปน อิตาลี จึงเปรียบเสมือนว่ากฎหมายโรมันได้แผ่อิทธิพลไปยังประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย รวมถึงเยอรมนีที่ภายหลังได้ทำการศึกษาและสกัดหลักของกฎหมายโรมันอย่างกว้างขวางจนได้รับอิทธิพลของกฎหมายโรมันยิ่งกว่าฝรั่งเศส และได้จัดทำประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันขึ้นในปี ค.ศ. 1900 โดยถูกนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการจัดทำประมวลกฎหมายของญี่ปุ่น บราซิล และสวิสด้วย ซึ่งท้ายที่สุดก็ส่งอิทธิพลต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยในเวลาต่อมานั่นเองครับ

ดังนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ เพราะใช้ระบบกฎหมายที่พัฒนามาจากกฎหมายโรมัน หลักกฎหมายเอกชนส่วนใหญ่พัฒนามาจากกฎหมายโรมัน เป็นระบบที่กฎหมายลักษณ์อักษรเป็นบ่อเกิดที่สำคัญที่สุด และมีการจัดทำประมวลกฎหมาย10 ซึ่งประเทศไทยเลือกใช้โครงสร้างแบบตระกูลเยอรมัน (Germanist)

3. อิทธิพลของกฎหมายภาคพื้นยุโรปในกฎหมายไทย

ในบทบรรณาธิการของหนังสือชุดคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียงมาตราของกองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายเกี่ยวกับความเป็นมาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยไว้อย่างชัดเจน

โดยในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะกรรมการร่างกฎหมายส่วนใหญ่ได้อธิบายว่า ผู้ร่างเริ่มต้นการศึกษากฎหมายในเรื่องนั้น ๆ โดยดูจากกฎหมายสยามที่มีอยู่ จากประมวลกฎหมายของต่างประเทศ ความชัดเจนของกฎหมายจะดูจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส บทบัญญัติที่ทันสมัยจะดูจากประมวลกฎหมายลักษณะหนี้ของสวิสและญี่ปุ่น ประมวลกฎหมายเยอรมันจะกระชับรัดกุมด้วยเทคนิคทางกฎหมาย และดูประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายของประเทศในยุโรปอื่น เช่น อิตาลี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และบางรัฐของอเมริกา รวมไปถึงกฎหมายอังกฤษซึ่งนักกฎหมายสยามช่วงนั้นรู้จักกันเป็นอย่างดี11

สิ่งสำคัญในการร่าง คือ คณะร่างกฎหมายพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และภูมิปัญญาของประเทศที่ได้มีประมวลกฎหมายมาก่อนมากกว่าที่จะลอกเลียนมาทั้งหมด

ในสมัยที่ประเทศไทยเริ่มร่างประมวลกฎหมาย กลุ่มผู้ร่างยุคแรกจะปูแนวทางมาจากหลักกฎหมายฝรั่งเศส อย่างประมวลกฎหมายแพ่งที่ว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน วิธีแยกว่าเป็นรูปแบบหลักกฎหมายฝรั่งเศส คือ ประมวลกฎหมายจะมีการบัญญัติเรื่อง สัญญา (Contract) ไว้เป็นหลัก โดยจะมีมาตราหนึ่งอธิบายว่า สัญญา คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 1101 ของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส บัญญัติว่า สัญญาคือความสอดคล้องกันของเจตนาระหว่างบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปเพื่อก่อ เปลี่ยนแปลง โอน หรือระงับซึ่งหนี้

French Civil Code Article 1101. “A contract is a concordance of wills of two or more persons intended to create, modify, transfer or extinguish obligations.”

ส่วนประเทศที่ใช้สัญญาเป็นบทบัญญัติหัวใจของระบบกฎหมายแบบฝรั่งเศสก็เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งอิตาลี ซึ่งได้วางนิยามของสัญญาไว้ในมาตรา 1321 ว่า สัญญาเป็นความตกลงระหว่างคู่สัญญาตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปเพื่อก่อ กำกับหรือระงับซึ่งนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่สัญญา

Italian Civil Code Article 1321. “A contract is the agreement of two or more parties to establish, regulate or extinguish a patrimonial legal relationship among themselves.”

ในขณะที่ถ้าเป็นรูปแบบเยอรมัน ประมวลกฎหมายจะวางหลักเกี่ยวกับนิติกรรมหรือการแสดงเจตนาเป็นตัวยืนพื้น เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น รวมถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยเอง หากแต่ในประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันและญี่ปุ่นไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับนิยามของนิติกรรมแบบมาตรา 149 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยที่ประกาศใช้ครั้งแรกคือ ปี 2466 ซึ่งเป็นรูปแบบฝรั่งเศส เพราะจะใช้บทบัญญัติและหลักกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาเป็นตัวยืนพื้น แต่พอมีการแก้ไขและประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ปี 2468 (ซึ่งยังใช้มาจนปัจจุบัน) กฎหมายไทยก็เลยกลายเป็นรูปแบบเยอรมันแทน เพราะเราเอาประมวลกฎหมายญี่ปุ่นเป็นตัวตั้งในการบัญญัติ ซึ่งกฎหมายญี่ปุ่นสมัยที่มีร่างก็ใช้กฎหมายเยอรมันเป็นแม่แบบอีกที โดยบางมาตราถ้าไปดูบทบัญญัติในหมวดนิติกรรมของประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันจะเห็นว่าแทบจะเหมือนกันกับถ้อยคำในบางมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย

หากแต่ถ้าเจาะลงไปเชิงลึกจะพบว่า เราก็ไม่ได้อาศัยหลักกฎหมายญี่ปุ่นหรือเยอรมันเป็นแบบทุกประการ เพราะในขณะร่างกฎหมายมีการนำเอากฎหมายประเทศอื่นมากมายหลายประเทศมาเปรียบเทียบเพื่อเลือกให้เกิดความเหมาะสมที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นมาตราต่าง ๆ จึงอาจมีต้นแบบการร่างจากประมวลกฎหมายหลายประเทศ เช่น บราซิล อาร์เจนติน่า สวิส แม้กระทั่งฝรั่งเศสเอง เหมือนเรามีรูปแบบหลัก ๆ เป็นเยอรมันแต่รายละเอียดนั้นเราไม่ยึดติดว่าจะต้องแต่งหรือรับหลักกฎหมายจากกฎหมายเยอรมันอย่างเดียว

เรื่องนี้แม้กระทั่งนักกฎหมายญี่ปุ่นเองก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มุ่งมั่นไปเรียนกฎหมายเยอรมัน เพราะคิดว่ากฎหมายของตนมาจากเยอรมันทั้งหมด แต่ภายหลังกลุ่มคนร่างเองก็อธิบายว่า ไม่ได้เอามาจากหลักกฎหมายทั้งหมดมาจากเยอรมัน มีการนำเอามาจากฝรั่งเศสด้วย12 โดยมีการสกัดหลักเกณฑ์ที่คิดว่าดีและเหมาะสมนำออกมา มีการเลือกการปรับปรุง แต่การที่นักกฎหมายญี่ปุ่นไปศึกษากฎหมายเยอรมันมาก ๆ ก็ทำให้เกิดกระบวนการปรับเป็นเยอรมัน เพราะนักกฎหมายส่วนใหญ่ที่ไปศึกษาต่อ เมื่อเน้นแนวคิดแบบกฎหมายเยอรมัน ความคิดทางกฎหมายก็กลายเป็นเยอรมันไปด้วย13 อิทธิพลกฎหมายเยอรมันจึงมีสูงมากในวงการกฎหมายญี่ปุ่นระยะหลัง

4. การร่างกฎหมาย นิติกรรม-สัญญา

ตัวอย่างกฎหมายที่ทำให้เป็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยมีโครงสร้างเป็นกฎหมายเยอรมันก็คือ การพิจารณาเรื่อง “นิติกรรม”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 บัญญัติว่า “นิติกรรม หมายความว่าการใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ”

มาตรา 149 นี้เป็นมาตราแรก ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายแพ่ง นิติกรรม อาจจะอธิบายอย่างรวดเร็วได้ว่า นิติ คือ กฎหมาย ส่วน กรรม คือ การกระทำ เพราะฉะนั้น นิติกรรม ก็คือการกระทำในทางกฎหมาย14 ถ้าลองสังเกตบทบัญญัติในหมวดนิติกรรม จะพบว่าส่วนใหญ่ใช้คำว่า การใด (มาตรา 150-153) หรือการแสดงเจตนา (มาตรา 154 เป็นต้นไป) โดยคำว่า นิติกรรม ในตัวบทภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Juristic Acts” (ในภาษาเยอรมันคำเดียวกัน คือ Rechtsgeschäft) ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งที่ใช้การเริ่มต้นเรื่องเป็นนิติกรรมนั้นมีลักษณะและความเป็นรูปแบบตามกฎหมายเยอรมัน

หากแต่ความแปลกอย่างหนึ่งคือในประมวลกฎหมายเยอรมันจะไม่มีนิยามของคำว่า นิติกรรม แบบกฎหมายไทย โดยเขามองว่าจะไม่ควรจะบัญญัติเกี่ยวกับนิยามของนิติกรรม เพราะอาจจะเกิดผลลัพธ์ว่า กฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่าอะไรบ้างที่เป็นนิติกรรม อะไรที่ควรหรือจะต้องเป็นนิติกรรมก็จะกลายว่าไม่เป็นนิติกรรมไป จึงควรมอบหน้าที่ในการพัฒนานิยามเรื่องนิติกรรมเอาไว้กับวงการกฎหมายแทน ด้วยเหตุนี้นิยามหรือแนวคิดของนิติกรรมในกฎหมายเยอรมันจึงมีลักษณะเป็นนามธรรมและถูกพัฒนาหลักการเรื่อย ๆ โดยวงการวิชาการกฎหมาย15

รูปแบบที่คู่กันมาคือ รูปแบบฝรั่งเศส ซึ่งจะตรงกันข้ามกันเลย บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสไม่มีเรื่องนิติกรรม เพราะเริ่มต้นที่ “สัญญา” เลยตามมาตรา 1101 ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ซึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่ง พ.ศ. 2466 เดิมของเราเป็นโครงสร้างแบบฝรั่งเศส โดยมีบทบัญญัตินิยามของสัญญาเหมือนกัน คือ มาตรา 106 ที่บัญญัติว่า “สัญญานั้นเป็นความตกปากลงคำกันระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ก่อให้มีหนี้ประการหนึ่งหรือหลายประการ” อันคล้ายคลึงกับบทบัญญัติของฝรั่งเศส แต่ทางมาตรา 1101 ของประมวลแพ่งฝรั่งเศสที่นิยามว่า สัญญาเป็นความตกลงกันของบุคคลในการโอนกรรมสิทธิ์ กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ จึงมีตำรากฎหมายลักษณะหนี้ของไทยบางเล่มอธิบายว่า หนี้ จะแบ่งได้สามประการ คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ16 ซึ่งก็คือการอธิบายในรูปแบบฝรั่งเศสนั่นเอง

การใช้หลักนิติกรรมเป็นหลักทั่วไปแบบกฎหมายเยอรมันและญี่ปุ่น อาจเป็นสิ่งที่ทันสมัยมากกว่าการร่างโดยเทียบเคียงกฎหมายฝรั่งเศสที่ใช้หลัก “สัญญา” เป็นหลักทั่วไป เพราะกฎหมายทั้งสองประเทศนี้ร่างภายหลังกฎหมายฝรั่งเศสถึงเกือบ 100 ปี จึงมีการแก้ไขจุดบกพร่องและทันสมัยมากกว่า โดยแนวคิดเรื่องนิติกรรมและการแสดงเจตนา (declaration of will; Willenserklärung) ถูกพัฒนาขึ้นมาจากการสกัดหลักกฎหมายโรมันโดยกลุ่ม Pandectist

หากแต่มีข้อสังเกตว่า ประมวลกฎหมายแพ่งของอิตาลีซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับปี ค.ศ.1942 (พ.ศ. 2485) ก็ยังมีการคงหลักการว่า หลักทั่วไปที่เป็นเรื่องของ “สัญญา” มีความสำคัญ โดยถือว่ากฎหมายสัญญาเป็นสิ่งที่วางโครงสร้างการกระทำที่เป็นผลประโยชน์ของบุคคลและเป็นเครื่องมือในการหมุนเวียนเปลี่ยนมือของทรัพย์ในระบบเศรษฐกิจ17

เมื่อกฎหมายไทยถือว่า นิติกรรมถือเป็นหลักทั่วไป ส่วนสัญญาจัดเป็นเพียงนิติกรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีบทบัญญัติเรื่องสัญญาเป็นพิเศษก็ต้องกลับมาใช้หลักทั่วไปของนิติกรรม ในขณะที่รูปแบบฝรั่งเศส หลักกฎหมายลักษณะสัญญาเป็นตัวนำ แล้วเรื่องอื่นก็สกัดเอาจากหลักของสัญญา ก็จะเกิดการสวนทางกันกับรูปแบบกฎหมายเยอรมัน ที่จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการแยกกันระหว่างนิติกรรมกับสัญญา คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงเจตนา เรื่องการแสดงเจตนาโดยทำคำเสนอและคำสนองมีบัญญัติเป็นพิเศษในลักษณะสัญญา แต่จะเห็นว่าในลักษณะนิติกรรมก็มีบทบัญญัติเรื่องการแสดงเจตนาเช่นกัน หากแต่พอเป็นเรื่องเฉพาะของสัญญา กรณีนี้จะต้องใช้บทบัญญัติเรื่องการแสดงเจตนาในส่วนของสัญญามิใช่บทบัญญัติการแสดงเจตนาในหมวดทั่วไป

5. บทสรุป

รากของกฎหมายแพ่งของไทยมีที่มาสืบสายได้จากกฎหมายเอกชนโรมัน ซึ่งผ่านมาจากการที่เราได้นำประมวลกฎหมายของประเทศที่รับหลักการของกฎหมายโรมันมาบัญญัติไว้ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส มาเป็นแบบอย่างและประกอบในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ด้วยเหตุนี้ การไปเรียนกฎหมายต่างประเทศน่าจะช่วยเพิ่มความคิดต่อยอดเราจากการได้ไปศึกษาประเทศที่เป็นรากฐานของกฎหมายปัจจุบันที่เราใช้อยู่ ซึ่งปัจจุบันก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่าง ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน (BGB) พึ่งแก้ไขในช่วงครบรอบ 100 ปี คือ ประมาณตอนปี ค.ศ. 2000 (เพราะ BGB ใช้บังคับมาตั้งแต่ ค.ศ. 1990) ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสก็พึ่งเริ่มมีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา เช่น กฎหมายลักษณะสัญญาของฝรั่งเศสมีการแก้ไขปรับปรุงอย่างมากในช่วงปี 2015-2016 ให้ทันสมัยขึ้น

เมื่อมองย้อนกลับมากฎหมายไทย ก็น่าจะต้องพิจารณาว่า บทบัญญัติใดบ้างของเราที่ควรจะต้องแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยหรือไม่เพราะต้นแบบร่างมาตราต่าง ๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยได้มีการแก้ไขปรับปรุงกันไปอย่างมาก

  1. René David and John E.C. Brierley, Major Legal Systems in the World Today: An Introduction to the Comparative Study of Law (London: Stevens & Sons, 1968), p. 14.
  2. แสวง บุญเฉลิมวิภาส, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (The Thai Legal History), พิมพ์ครั้งที่ 15 (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2559), หน้า 197-199.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 204.
  4. สุนัย มโนมัยอุดม, ระบบกฎหมายอังกฤษ, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 237.
  5. ประชุม โฉมฉาย, กฎหมายเอกชนเปรียบเทียบเบื้องต้น : จารีตโรมันและแองโกลแซกซอน, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558), หน้า 21.
  6. หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, แก้ไขปรับปรุงโดยสมยศ เชื้อไทย, พิมพ์ครั้งที่ 21 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), หน้า 17-19.
  7. รวินท์ ลีละพัฒนะ, ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2559), หน้า 23.
  8. สมยศ เชื้อไทย, คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 21 (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2558), หน้า 200.
  9. ปรีดี เกษมทรัพย์, กฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป (กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการบริการทางวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 4.
  10. มุนินทร์ พงศาปาน, ระบบกฎหมายซีวิลลอว์: จากกฎหมายสิบสองโต๊ะสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562), หน้า 36-37.
  11. จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรียงมาตรา ว่าด้วยสัญญา บรรพ 2 มาตรา 354 – 398, ปรับปรุงโดยศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ (กรุงเทพมหานคร: กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551), X-XI.
  12. มุนินทร์ พงศาปาน, ระบบกฎหมายซีวิลลอว์, หน้า 276-277.
  13. เรื่องเดียวกัน, หน้า 280.
  14. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 21 (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2560), หน้า 23.
  15. Nigel Foster and Satish Sule, German Legal System and Laws, 4th ed. (Oxford: Oxford University Press, 2010), p. 424.
  16. จิ๊ด เศรษฐบุตร, หลักกฎหมายแพ่งลักษณะนิติกรรมและสัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551), หน้า 20-21.
  17. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, “การแยกกฎหมายพาณิชย์ออกจากกฎหมายแพ่ง,” วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 36, 4 (ธันวาคม 2550): 791.

Comments